กทม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติจัดพื้นที่รองรับการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพาน

ข่าวทั่วไป Wednesday December 27, 2000 11:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กทม.
กทม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติจัดพื้นที่รองรับการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพานธันวาคมนี้เสร็จหมด 3 แปลงพร้อมรองรับชุมชนทั้งหมด 4 โซน
เมื่อวานนี้ (26 ธ.ค.43) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมสำนักพัฒนาชุมชน อาคารศรีจุลทรัพย์ นพ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการประชุมเรื่องการดำเนินการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพาน และการใช้ประโยชน์ที่ดินใต้สะพานหลังการรื้อย้าย โดยมี นางผ่องลักษณ์ วาสิกศิริ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน นายสถาพร สุรพงษ์พิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชน หัวหน้าฝ่ายโยธาและหัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนของสำนักงานเขตที่มีผู้อยู่อาศัยใต้สะพาน ทั้ง 27 สำนักงานเขต ร่วมประชุม จัดทำแผนการรื้อย้ายผู้บุกรุกใต้สะพานในแต่ละพื้นที่เขต ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อผู้อยู่อาศัยใต้สะพานอย่างละเอียด พร้อมทั้งจัดทำแผนและโครงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใต้สะพานภายหลังการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพาน เพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำและอำนวยความสะดวกในการขนย้ายผู้อยู่อาศัยใต้สะพานแต่ละพื้นที่เขตไปยังพื้นที่รองรับด้วย
กทม.ร่วมกับการเคหะแห่งชาติได้จัดพื้นที่รองรับการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพานในเขต กทม. 72 สะพาน ขณะนี้การเคหะแห่งชาติได้ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่รองรับชุมชนใต้สะพานแปลงที่ 1 รองรับโซน 1 ซอยประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ แปลงที่ 2 รองรับโซน 2 และ 3 หลังโครงการอ่อนนุช เขตประเวศ ซึ่งดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ พร้อมทำสัญญาเช่าและขณะนี้ผู้อาศัยใต้สะพานได้จับสลากเข้าอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว แปลงที่ 3 รองรับโซน 4 ถนนเพิ่มสินออเงิน เขตสายไหม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมเช่นกัน และชุมชนใต้สะพานยินยอมจะดำเนินการรื้อย้ายทั้งหมดในเดือนมี.ค. - เม.ย.44
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวถึงแนวทางการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพานว่า กทม.จะกำหนดวันรื้อย้ายชุมชนเข้าไปอยู่ในพื้นที่รองรับทั้ง 3 แปลง ประมาณเดือนมี.ค. — เม.ย.นี้ โดยจะกำหนดวันดี-เดย์ รื้อย้ายให้แล้วเสร็จในวันเดียว และเมื่อทำการรื้อย้ายแล้วก็จะดำเนินการสร้างรั้วตาข่ายล้อมรอบบริเวณที่ว่างใต้สะพานทันทีเพื่อป้องกันการบุกรุกใหม่ อันจะทำให้ต้องเสียงบประมาณในการรื้อย้ายอีก นอกจากนี้สำนักงานเขตยังจะประสานความร่วมมือกับสถานีตำรวจท้องที่เพื่อจัดกำลังตำรวจเฝ้าระวังไม่ให้เกิดชุมชนใต้สะพานได้ต่อไป ในการนี้ตนได้มอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายโยธาแต่ละสำนักงานเขตออกแบบรั้วตาข่ายและประมาณการงบประมาณให้พร้อมที่จะติดตั้งหลังการรื้อย้ายทันที
โครงการรื้อย้ายชุมชนใต้สะพานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในการจัดหาที่อยู่อาศัยที่มั่นคงเพื่อให้ประชาชนที่ยากไร้ ได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น และเพื่อให้ราษฎร์และรัฐร่วมมือกันพัฒนาด้านกายภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป--จบ--
-นศ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ