กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สสว.
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2559 ผอ.สสว.และอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมชี้แจงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับจากกฎหมายฟื้นฟูกิจการ และจำนวนสถานประกอบการที่เพิ่มขึ้นในปี 2558 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยถึงรายละเอียด พ.ร.บ.ฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่ กรมบังคับคดีได้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2559 การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 และมีผลใช้บังคับวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 เพื่อเปิดโอกาสเป็นครั้งแรกให้ธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถชำระหนี้ได้ แต่ยังมีช่องทางในการดำเนินธุรกิจสามารถยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการได้ เช่นเดียวกับบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และจะเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจ SME จะได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และดำเนินธุรกิจต่อไปได้
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่9) เรื่องการฟื้นฟูกิจการธุรกิจเอสเอ็มอี จะช่วยให้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับสิทธิประโยชน์ คือ หากเจ้าหนี้หลักรับแผนฟื้นฟูแล้วเจ้าหนี้อื่นจะมาฟ้องไม่ได้ ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปได้ง่ายขึ้น โอกาสที่เจ้าหนี้เดิมจะให้เงินกู้เพิ่มเพื่อ SMEs ไปดำเนินธุรกิจต่อจะสามารถทำได้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวเจ้าหนี้ที่เหลืออยู่มาฟ้อง ในส่วนของ SMEs กลุ่ม Turn Around ที่มาเข้าโครงการของ สสว. จะได้รับประโยชน์จากการนี้มาก สสว. จะประสานงานให้มีการยื่นแผนฟื้นฟูและมีโอกาสสูงมากที่จะมากู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นของ สสว.
พร้อมกันนี้ สสว. กรมบังคับคดี และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะร่วมกันจัดงาน "สานพลัง SMEs พลิกฟื้นยืนได้ ใส่ใจผู้ประกอบการ" ภายใต้กิจกรรมในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อมซึ่งกำหนดจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 27 มิถุนายน 2559 โดยได้รับเกียรติจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกล่าวปาฐกถาการขับเคลื่อน SMEs ด้วยกฎหมายฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ SMEs ได้รับทราบถึงความเป็นมาของโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม ประโยชน์ที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับ รูปแบบการดำเนินงาน ตลอดทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเชิญเจ้าหนี้ อาทิ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เชิญลูกหนี้มาร่วมกิจกรรมปรับโครงสร้างหนี้ปรับแผนธุรกิจกันภายในงาน
ตามข้อมูล สสว. โดยดูจากงบการเงินปีล่าสุดคือ ปี 2557 ของ SME ประมาณ 4.2 แสนรายนั้น พบว่า 70 % แสดงหนี้สินน้อยกว่า 3 ล้านบาท และมี SMEs ที่มีหนี้สินอยู่ในช่วง 3-10 ล้านบาท มีอยู่ 12 % หรือประมาณ 51,000 ราย ซึ่งเมื่อดูในรายละเอียดเพิ่มขึ้นแล้วพบว่า SMEs ที่มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาซึ่งน่าจะเป็น SMEs ที่มีโอกาสใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้มีจำนวนประมาณ 7,400 ราย อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาและมียอดหนี้ไม่ต่ำกว่าสามล้านบาทก็ยังน่าจะมีอยู่อีกจำนวนหนึ่งโดยในส่วนของ ธพว. มีลูกหนี้ที่เป็นรายย่อยจำนวนมาก และจำนวนลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายที่จะต้องปรับโครงสร้างหนี้มีจำนวน 568 ราย มียอดหนี้สินรวม 2,403 ล้านบาท
นอกจากนี้ ผอ.สสว.ยังเปิดเผยอีกว่าเพียงสิ้นปี 2558 มีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จดทะเบียนเป็นเอสเอ็มอีมีจำนวน 2,765,986 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 29,242 ราย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของนิติบุคคล 23,130 ราย และเป็นวิสาหกิจชุมชน 6,112 ราย
ในส่วนของนิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นการเพิ่มขึ้นในภาคการบริการ 12,576 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างอาคาร เป็นการเพิ่มขึ้นในกลุ่มภาคการค้า 7,498 ราย และในกลุ่มภาคการผลิต 3,056 ราย ซึ่งเป็นในกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ และธุรกิจผลิตอาหาร เป็นส่วนใหญ่
สำหรับในส่วนของธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดานั้น ใช้ฐานข้อมูลจากการสำมะโนธุรกิจฯ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งดำเนินการทุก 5 ปี และในปี 2559 นี้ สสว.สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานสถิติแห่งชาติในการดำเนินการสำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานผู้ประกอบการในส่วนของพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี SMEs มากที่สุดของประเทศและเป็นพื้นที่ที่สำรวจนับอยากมากที่สุด (งานนับจดในกรุงเทพมหานคร ปี 2559)