กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ช่วงฤดูฝนนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์มีความห่วงใยสุขภาพสัตว์เลี้ยงของเกษตรกร เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน สัตว์จะอ่อนแอและอาจไวต่อการติดเชื้อโรคระบาดได้ง่าย ดังนั้น เกษตรกรจึงควรจัดเตรียม น้ำ อาหาร และวิตามินให้สัตว์กินเสริม และทำวัคซีนป้องกันโรคไว้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโรคสัตว์ที่มักมากับหน้าฝนนั้นในสัตว์ต่างชนิดก็มักจะเป็นโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในโค กระบือ แพะ แกะ มักมีปัญหาเรื่องท้องอืด ท้องเสียจากการกินหญ้าอ่อนที่เพิ่งแตกยอดเมื่อได้รับน้ำฝนเข้าไปเป็นจำนวนมาก เพราะสัตว์จะกินแต่ฟาง หรือหญ้าแห้งตลอดในช่วงฤดูแล้ง นอกจากนี้ ยังมีโรคหวัด โรคปอดบวม โรคคอบวม โรคปากและเท้าเปื่อย ส่วนสุกรต้องระวัง โรคปากและเท้าเปื่อย และโรคพีอาร์อาร์เอส โดยจะแสดงอาการผิดปกติที่เกษตรกรสามารถสังเกตได้คือ ซึม เบื่ออาหาร หากเป็นโค-กระบือ จะมีขี้ตา หายใจลำบาก มีขี้มูก ไอหรือจาม หรือท้องเสีย และอาจมีการแท้งลูกได้ สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องในเบื้องต้นมักจะไม่มีการเคี้ยวเอื้อง จมูกเปียกแฉะหรือแห้งผิดปกติ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม หนังไม่สั่นไล่แมลง สำหรับในสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ เป็นต้น โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ ที่อาจสร้างความสูญเสียให้กับสัตว์ปีกเป็นจำนวนมากเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์ปีกโดยตรง ทำให้อ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำลง อาการที่พบได้ คือ คอตก คอบิด หายใจเสียงดัง หรืออาจมีน้ำมูกไหลได้
นายสัตวแพทย์อยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการดูแลปศุสัตว์ของตนให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรง โดยต้องดูแลในเรื่องของการจัดการโรงเรือนหรือคอกสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย และที่สำคัญควรทำวัคซีนแต่ละชนิดให้ตรงตามระยะเวลาที่กำหนดของแต่ละชนิด"
ด้านนายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ได้เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกรเพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ด้านป้องกันโรค การดูแลสุขภาพ การฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด และค้นหาสัตว์ป่วย หรือตายที่มีอาการคล้ายโรคระบาด โดยหากตรวจพบการเกิดโรคให้ดำเนินการควบคุมโรคทันที
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันโรคของสัตว์ปีกตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านให้มีการเข้มงวดในการป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอ ให้ดำเนินกิจกรรมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกและทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ตามแนวชายแดน กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการลักลอบ การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกเข้า-ออก ตามแนวชายแดน อีกทั้งให้เจ้าหน้าที่ด่านกักสัตว์ตั้งจุดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในบริเวณจุดผ่านแดน โดยให้พ่นยานพาหนะทุกคันที่สงสัยว่ามีการปนเปื้อนเชื้อโรค ทั้งรถยนต์ รถจักรยาน รวมไปถึงรถเข็น ซึ่งเน้นให้ฉีดพ่น ทั้งบริเวณที่บรรทุกสัตว์ปีกให้เปียกชุ่ม ระงับการนำเข้าไก่ เป็ด ห่าน และนก รวมถึงไข่ที่ใช้สำหรับทำพันธุ์และซากสัตว์ปีกดังกล่าวจากประเทศที่มีการรายงานโรคไข้หวัดนกเข้าราชอาณาจักรจนกว่าสถานการณ์โรคจะสงบ และให้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนที่พักอาศัยบริเวณตามแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนกและขอความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสการลักลอบนำเข้าสัตว์ปีกและซากสัตว์ปีกอีกด้วย