กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการลงนามและประกาศเจตนารมณ์ "โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อปัจจัยการผลิตทางการเกษตร" ระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรกับสมาคมผู้ประกอบการด้านปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ จำนวน 7 สมาคม ผู้ประกอบการ 238 ราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งเป็นความร่วมมือในลักษณะประชารัฐ เพื่อให้เกษตรกรมีปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และเมล็ดพันธุ์ ที่มีคุณภาพ ในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนต่ำลงมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ ซึ่งมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การรักษาคุณภาพสินค้า การลดราคา อาทิ การลดราคาปุ๋ย และการอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยเกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่เข้าร่วมโครงการได้จากร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร จำนวน 20,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะมีเครื่องหมาย "ปัจจัยการผลิตคุณภาพประชารัฐ Q" แสดงอยู่ที่หน้าร้าน
พลเอก ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการและเตรียมพร้อมให้บริการเกษตรกรตามบทบาทภารกิจ โดยได้จัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อเตรียมพร้อมเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2559 ที่หวังกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ รวมทั้งเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่มีอยู่ โดยเตรียมจัดเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field Day) เพื่อให้เป็นต้นแบบแห่งแรกวันที่ 27 พ.ค.นี้ ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และเตรียมขยายผลให้ครบทุก ศพก.ในแต่ละอำเภอ ๆ ละ 1 จุด รวม 882 แห่งทั่วประเทศ
ทั้งนี้ จากการที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้วันที่ 18 พ.ค. 59 เป็นวันเริ่มต้นฤดูฝน ปี 2559 อย่างเป็นทางการ ซึ่งในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 24 พ.ค. 59 มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนต่าง ๆ รวม 245.74 ล้าน ลบ.ม. โดยสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,437 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะต้องมีการวางแผนในการระบายน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งปฏิบัติการฝนหลวงฯ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. – 24 พ.ค. 59 โดยขึ้นปฏิบัติการทั้งสิ้น จำนวน 82 วัน 1,782 เที่ยวบิน มีฝนตก 65 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหลือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 11 จังหวัด ภาคอีสาน 15 จังหวัด ภาคตะวันออก 8 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด และภาคใต้ 13 จังหวัด มีน้ำไหลเข้าเขื่อน จำนวน 29 เขื่อน รวม 158.06 ล้าน ลบ.ม.