กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานระยะนี้มีฝนตกกระจาย และฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ปภ. จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีอย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกส่วนใหญ่ตกบริเวณใต้เขื่อน จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 38 จังหวัด จึงขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในระยะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกกระจาย และฝนตกหนักบางพื้นที่ จากการติดตามสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า บริเวณที่มีฝนตกหนักส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา และภูเก็ต จากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกในระยะนี้ไปจนถึงช่วงวันที่ 2 – 4 มิถุนายน 2559 เนื่องจากลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกลดลง แต่ช่วงวันที่ 5 - 7 มิถุนายน 2559 ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย ส่งผลให้บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ปภ. จึงได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมืออันตรายจากฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก โดยตรวจสอบท่อ ทางระบายน้ำมิให้มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย นอกจากนี้ ในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครและจังหวัดในพื้นที่ภาคกลางมีฝนตกในช่วงกลางคืนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งสภาพถนนที่เปียกลื่น และมีน้ำท่วมขังผิวการจราจร ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง จึงขอให้ผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถด้วยความเร็วสูง เพื่อป้องกันรถเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทาง ก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองและผู้ร่วมใช้เส้นทาง
นายฉัตรชัยฯ กล่าวต่อไปว่า แม้หลายพื้นที่จะมีฝนตก แต่ส่วนใหญ่ฝนตกบริเวณใต้เขื่อน จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยกว่าปริมาณน้ำที่ระบายออก โดยปัจจุบัน (2 มิถุนายน 2559) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 38 จังหวัด 243 อำเภอ 1,271 ตำบล 10,165 หมู่บ้าน แบ่งเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 12 จังหวัด จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและ น้ำเพื่อการเกษตร 18 จังหวัด อีกทั้งมีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระหว่างปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม 2559 จึงขอความร่วมมือ ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรให้วางแผนการเพาะปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th