กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 37 จังหวัด พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และวางแผนจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งระยะนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ จึงได้ประสานจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว หลายพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่ฝนไม่ได้ตกในพื้นที่เหนือเขื่อน ทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนในปริมาณน้อย จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนได้ ส่งผลให้หลายพื้นที่ประสบสถานการณ์ภัยแล้ง โดยปัจจุบัน (วันที่ 3 มิถุนายน 2559) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ
ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 37 จังหวัด 241 อำเภอ 1,258 ตำบล 10,034 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 13.38 ของจำนวนหมู่บ้าน
ทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 11 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรีชลบุรี ตรัง ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคามบุรีรัมย์ กาญจนบุรี จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภค บริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 18 จังหวัด ได้แก่อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา เพชรบุรี ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว ขอนแก่น ปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี กำแพงเพชร ราชบุรี และแม่ฮ่องสอน รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรณีที่จำเป็นต้องมีการปรับลดการระบายน้ำให้ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด สำรองน้ำฝนและกักเก็บน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกันสถานการณ์น้ำในพื้นที่ เพื่อป้องกันมิให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามพยากรณ์อากาศ พบว่า บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก ชลบุรี ระนอง พังงาและภูเก็ต อาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะฝนตกหนักสะสมในระยะนี้ได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้ประสานจังหวัดดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงฤดูฝน โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ชุดเคลื่อนที่เร็ว พร้อมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังคงมีฝนตกต่อไปได้อีก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลเส้นทางการจราจร และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนกรณีน้ำท่วมขังเส้นทาง ทั้งนี้ ประชาชนที่ประสบสาธารณภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th