กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สสวท.
สสวท. จัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือประเมินคุณภาพของสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นแนวทางพิจารณาเลือกใช้สื่อสิ่งพิมพ์วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่มีคุณภาพมาตรฐานตามกำหนด เนื่องจากหลังการปฏิรูปการศึกษาแล้ว สถานศึกษามีบทบาทในการกำหนดหลักสูตรท้องถิ่น จัดหาสื่อและอุปกรณ์การสอนได้เอง โดยคาดว่ามาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวจะประกาศใช้ในปี 2544 นี้
ดร. ปรีชาญ เดชศรี รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งกำกับดูแลสาขาประเมินมาตรฐาน สสวท. เปิดเผยว่า ในการจัดการศึกษานั้น สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนมีความสำคัญ เพราะเวลาเรียนของเด็กค่อนข้างจำกัด ถ้าทำสื่อสิ่งพิมพ์ให้มีคุณภาพจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วขึ้น และดีกว่าสิ่งพิมพ์ที่หนาแต่สาระน้อย ดังนั้น สสวท. จึงต้องเข้ามาจัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพราะในอนาคตการจัดทำสื่อเหล่านี้จะเปิดกว้างมากขึ้น เอกชนจะเข้ามาผลิตสิ่งพิมพ์เหล่านี้ได้ จึงมีความ หลากหลายมากขึ้นและมีระดับแตกต่างกัน ถ้าโรงเรียนนำสื่อที่ด้อยคุณภาพมาใช้ ผลเสียก็จะตกอยู่ที่ ตัวนักเรียนเอง
“การจัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของ สสวท. จะช่วยให้สถานศึกษา ซึ่งเป็นผู้ใช้สื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นสามารถประเมินสื่อต่าง โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนดเพื่อสามารถเลือกสื่อที่มีคุณภาพได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ประกอบการเรียนการสอนที่วางขายในตลาดมีคุณภาพทัดเทียมกัน”
นอกจากนั้น ดร. ปรีชาญ เดชศรี ยังกล่าวว่า หลังจากจัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์นี้แล้ว จะเผยแพร่โดยการทดลองใช้ในโรงเรียนแกนนำทุกเขตพื้นที่การศึกษาก่อน และให้โรงเรียนเหล่านี้เป็นแกนหรือศูนย์กลางเผยแพร่ความรู้ และวิธีการใช้มาตรฐานนี้ไปสู่โรงเรียนอื่น ๆ ในท้องถิ่นต่อไป นอกจากนั้นจะมีการพัฒนาผู้ประเมิน โดยการรับอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถด้านเนื้อหาวิชา แล้ว สสวท. ให้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประเมินมาตรฐาน เพื่อช่วยให้มีผู้ประเมินเป็นจำนวนมาก
ขณะนี้มีสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวในโลกที่จัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์ในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยมี AMERICAN ASSOCIATION FOR THE ADVANCEMENT IN SCIENCE (AAAS) เป็นหน่วยงานดำเนินการ
สาเหตุที่ประเทศอื่นยังไม่มีมาตรฐานนี้อาจเป็นเพราะการผลิตหนังสือหรือสิ่งพิมพ์เพื่อใช้ใน การเรียนการสอนมีการตรวจสอบควบคุมจากรัฐอย่างรัดกุมเข้มงวดและไม่ได้เปิดกว้างมากนัก สภาพปัญหาในสหรัฐอเมริกาก่อนจะมีการจัดทำมาตรฐานนี้ มีบริษัทผลิตสิ่งพิมพ์เพื่อการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย ซึ่งพบว่าบางครั้งสถานศึกษายังเลือกใช้หนังสือคุณภาพต่ำ สหรัฐอเมริกาจึงได้จัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นมา สำหรับประเทศไทยแล้วหลังจากปฏิรูปการศึกษาจะมีการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้ การเรียนการสอนอย่างเสรีดังเช่นในสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องจัดทำมาตรฐานสื่อเหล่านี้ขึ้นมาเป็นการควบคุมคุณภาพสื่อการเรียนการสอนอีกทางหนึ่ง
มาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์วิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่ สสวท. จัดทำขึ้นนั้น ประกอบด้วย เกณฑ์การประเมิน ตัวบ่งชี้ และการให้คะแนน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญและครูผู้สอนในระดับต่าง ๆ เพื่อให้การจัดทำมาตรฐานดังกล่าวมีขอบข่ายสาระครอบคลุมสอดคล้องกับสภาพการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง สสวท. จึงได้จัดประชุมพิจารณามาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์ในวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2544 ที่จะถึงนี้ ณ ห้องประชุมสนั่น สุมิตรอาคารปฏิบัติการ สสวท. โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนและนักวิชาการจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ นักเขียน ครูผู้สอน ผู้บริหารและศูนย์พัฒนาหนังสือมาร่วมพิจารณาร่างที่จัดทำไว้แล้ว
ในการจัดทำมาตรฐานการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของ สสวท. นั้นนอกจากจะจัดทำมาตรฐานสื่อสิ่งพิมพ์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ แล้วยังมีการจัดทำข้อสอบมาตรฐาน มาตรฐาน ห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน มาตรฐานครูและมาตรฐานสื่อ ซึ่งจะเสร็จสิ้นและประกาศใช้ในปี 2545 นี้ ดร. ปรีชาญ กล่าวตบท้าย--จบ--
-อน-