ฟิทช์คงอันดับเครดิตหุ้นกู้บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) หลังจากบริษัทได้ประกาศ คำขอเสนอซื้อหุ้นใน บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

ข่าวทั่วไป Monday October 15, 2001 09:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย)
ฟิทช์-กรุงเทพฯ-ลอนดอน- 12 ตุลาคม 2544: บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ A(tha) และแนวโน้มมีเสถียรภาพ ของ (1) หุ้นกู้บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ครั้งที่1/2544 ซึ่งค้ำประกันหนี้โดย บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2547 และ (2) หุ้นกู้บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2544 ซึ่งค้ำประกันหนี้โดย บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ ฟิทช์ยังคงอันดับเครดิตของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) โดยคงอันดับเครดิตหนี้ระยะยาวที่ระดับ A(tha) และระยะสั้นที่ระดับ F1(tha)
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทได้ทำคำขอเสนอซื้อหุ้นสามัญจำนวน 29.98 ล้านหุ้น หรือเทียบเท่า 24.98% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) จากบริษัท จันพาธ อินเวสท์เมนทส์ ที่มูลค่าตามบัญชี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2544 โดยราคาตามบัญชีของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2544 อยู่ที่ 45.89 บาทต่อหุ้น เงินลงทุนในการซื้อหุ้นบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ คาดว่าจะไม่เกิน 1,500 ล้านบาท หรือ 33 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทได้ทำการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ไปเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ได้จัดสรรเงินประมาณ 3,500 ล้านบาท หรือ 78 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการออกหุ้นกู้ ไว้สำหรับการขยายกิจการในอนาคต ปัจจุบันบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) มีกำลังการผลิตเยื่อกระดาษอยู่ที่ 220,000 ตันต่อปี และเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีสัดส่วนกำลังการผลิตที่ 23% ของกำลังการผลิตรวมในประเทศ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นกลุ่มกิจการเยื่อกระดาษเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตประเภทครบวงจร การเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะมีกำหนดการประชุม ณ สิ้นเดือนตุลาคมนี้
ดังที่ได้เคยกล่าวถึงในรายงานการจัดอันดับฉบับสมบูรณ์ของฟิทช์ ในเดือน สิงหาคม 2544 บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ได้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มระดับการผลิตประเภทครบวงจรให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเยื่อกระดาษใหม่หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ เช่นการเข้าซื้อหุ้นของผู้ผลิตเยื่อกระดาษที่มีการดำเนินงานอยู่แล้ว เนื่องจากเยื่อกระดาษจัดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระดาษ ระดับการผลิตแบบครบวงจรที่เพิ่มสูงขึ้นจะช่วยลดความผันผวนในส่วนต่างกำไร ฟิทช์เห็นว่าการที่บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) เข้าถือหุ้นในบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นผลดีต่ออุตสากรรมการผลิตเยื่อกระดาษโดยรวม เนื่องจากภาวะอุปทานในประเทศล้นตลาดในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นในอดีตที่เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) อาจก่อให้เกิดผลกระทบในการลงทุนครั้งนี้ นอกจากนี้ การที่บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เคยประกาศแผนการลงทุนในการสร้างโรงผลิตเยื่อกระดาษใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ภาระหนี้สินสูงขึ้นนั้น ฟิทช์เห็นว่าแผนการลงทุนดังกล่าวของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) อาจมีการถูกนำมาทบทวนใหม่อีกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น จากการที่บริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ฟิทช์คาดว่าบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) จะใช้วิธีส่วนได้ส่วนเสียในการลงทุนเพื่อบันทึกผลประกอบการของ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นหลักในสัดส่วน 24.98% ในอนาคต หากบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ขยายสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% งบการเงินของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทลูก จะถูกรวมเข้าไว้ในงบการเงินของบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ซึ่งถ้าหากบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) สามารถรักษาระดับหนี้สินที่ต่ำได้ในอนาคต ฟิทช์เชื่อว่าการรวมงบการเงินจะไม่ส่งผลให้หนี้สินรวมของบริษัทเยื่อกระดาษสยามจำกัด (มหาชน) จำกัด สูงขึ้นมากนัก ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2544 บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ 1,100 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 720 ล้านบาท บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาที่ 0.6 เท่า และมีสัดส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ 50.5 เท่า ในปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย กลุ่ม จันพาธ อินเวสท์เมนทส์ (24.71%) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (15.57%) นาย Vashdev Tikamdas Purwani (9.10%) Globex Corporation (5.12%) และ กระทรวงการคลัง (3.34%)
ติดต่อ
อรวรรณ การุณกรสกุล, CFA, กรรมการ, Corporates + 662 655 4760
ภิมลภา สิมะโรจน์, ผู้ช่วยกรรมการ, Corporates + 662 655 4761
วสันต์ ผลเจริญ, นักวิเคราะห์, Corporates + 662 655 4763
Vincent Milton, กรรมการผู้จัดการ + 662 655 4759
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 'AAA' ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ "AAA" และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น "AAA(tha)" ในกรณีของประเทศไทย--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ