กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--IR network
บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) เดินหน้าขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ตารางออกบูธแสดงสินค้าแน่นเอี๊ยด ล่าสุดเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ร่วมงาน Dubai Auto Mechanika กระแสตอบรับดีเยี่ยม ลูกค้าพอใจคุณภาพงานเนี้ยบ บิ๊กบอส "สมพล ธนาดำรงศักดิ์"ปลื้มออเดอร์ใหม่ไหลเข้าเพียบ มั่นใจรายได้ปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามแผน
นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า บริษัทฯยังคงเดินหน้าออกบูธแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้า โดยล่าสุดได้เข้าร่วมงานDubai Auto mechanika ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตะวันออกกลาง ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ที่เข้ามาร่วมงานอย่างอบอุ่น โดยส่วนใหญ่ต่างพอใจในคุณภาพสินค้าและการบริการของบริษัทฯ
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2/59 บริษัทฯได้จัดกิจกรรมออกบูธแสดงสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2559 ก็ได้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน Thailand Autopart & Accessory 2016 (TAPA2016) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการส่งออกร่วมกับสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย มีผู้เข้าร่วมงานจากในและต่างประเทศทั้งสิ้น 1,037 คูหา โดยมีผู้ร่วมงานมากกว่า 11,000 คน
"เรายังคงเดินหน้าจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานลูกค้า ลดผลกระทบปัญหากำลังซื้อของคู่ค้าที่ลดลงจากวิกฤติค่าเงิน และปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งมั่นใจว่าจะช่วยผลักดันยอดขาย และทำให้รายได้ในปีนี้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามแผนที่วางไว้"นายสมพลกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 600 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 300 ล้านบาท ยังไม่นับรวมคำสั่งซื้อใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมทุนกับพันธมิตรในอินเดียที่คาดว่าจะได้ออเดอร์กว่า 300 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้ฯ ในปีนี้ 100 ล้านบาท ส่วนที่เหลือทยอยรับรู้รายได้ในปี 2560 โดยปัจจุบันบริษัทฯมีการส่งออกสินค้าไปยัง 132 ประเทศทั่วโลก และมีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 86% ของรายได้รวม
ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 37.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.83 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 72.18% สาเหตุหลักมาจากต้นทุนขายและบริการ ค่าใช้จ่ายทางการเงินลดลง และมีสัดส่วนงาน OEM เพิ่มสูงขึ้นจาก6.56% ในไตรมาส 1/58 เพิ่มเป็น 18.16% หรือเพิ่มขึ้น 201.80% ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบลดลง และต้นทุนต่อหน่วยลดลง