กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กรีนพีซ
ท่ามกลางปรากฎการณ์เอลนีโญที่กำลังส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นบริเวณกว้าง กรีนพีซมีเจตจำนงให้รัฐบาลประเทศในกลุ่มอาเซียนเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตอาหารและเกษตรกรรมของประเทศสู่แนวทางใหม่ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนเกษตรกรรมเชิงนิเวศเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการในยุคของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
"ในขณะที่มีการตั้งคำถามมากมาย ถึงการละเลยของรัฐบาลในการเตือนภัยในระยะเริ่มต้น รวมถึงบางกรณีที่รัฐบาลขาดการมีส่วนร่วมอย่างเร่งด่วนในการจัดการปัญหาเรื่องปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไปจะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้รับผลกระทบในระบบการเกษตร และอาหารอันมีผลมาจากปรากฎการณ์เอลนีโญ" วิลเฮลมินา เพลเลกรินา ผู้จัดการงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
กรีนพีซได้ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่จังหวัดน่าน เชียงใหม่ ในประเทศไทย รวมถึงจังหวัดซารังกานี และมากินดาเนา ในประเทศฟิลิปปินส์ โดยได้พบกับเกษตรกร และชาวพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ 2 ครั้งในปี 2558-2559
ที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาระงับความขัดแย้งระหว่างเกษตรกร ที่สูบน้ำจากแม่น้ำปิงเพื่อมาใช้ในสวนมะม่วงและลำใย ในขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ ชาวพื้นเมือง B'laan และ Teduray ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานไปยังที่ราบลุ่มเพื่อหาอาหารและทำงานเป็นคนรับใช้
นอกเหนือจากสภาพอากาศที่เลวร้าย บริษัทเคมีเกษตรยังส่งเสริมพืชดัดแปลงพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) ที่สร้างความทุกข์ยากให้กับผู้คน เกษตรกรยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทเพราะจะต้องพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ ปัจจัยการผลิต และตลาดของบริษัท ดังนั้น เกษตรกรและผู้บริโภคจึงได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากบริษัทเคมีเป็นผู้ครอบครองเทคโนโลยีและตลาด
ในประเทศฟิลิปปินส์ ปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรต้องฆ่าตัวตายเนื่องมาจากปัญหาความอดอยากและภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่เกษตรกรชาวเทดูราย (Teduray) ปลูกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม และยังต้องยืมเงินจากผู้ประกอบการเพื่อซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช
แทนที่จะส่งเสริมการทำเกษตรแบบเคมี และพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ทำความเสียหายต่อคุณภาพดินอย่างง่ายดายโดยการทำให้ดินแข็ง กรีนพีซเชื่อว่าการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการช่วยเหลือเกษตรกรให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ความหลากหลายทางชีวภาพคือหัวใจของการทำเกษตรเชิงนิเวศ การปลูกพืชแบบผสมผสานและหลากหลายร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ปีกและทำปศุสัตว์ในพื้นที่เดียวกันเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการที่ทำได้จริงและสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้
"ชีวิตของผู้คนกำลังแย่ลง คือสิ่งที่ปรากฎการณ์เอลนีโญแสดงให้เราเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย และฟิลิปปินส์ ที่วิถีการดำรงชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนไป" วิลเฮลมินากล่าวเสริม
กรีนพีซเรียกร้องให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนอภิปรายและมีข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการด้านความมั่นคงทางอาหารที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อให้รวมถึงมาตรการทางนโยบาย และเงินทุนสนันสนุนสำหรับการผลิตอาหารที่มาจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ความมั่นคงด้านสุขภาพและโภชนาการของประชาชน รวมถึงความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม
ในทำนองเดียวกัน กรีนพีซเรียกร้องให้องค์การด้านอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จัดลำดับความสำคัญของการลงมือทำ ที่เสนอขึ้นโดยประเทศสมาชิกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในด้านการผลิตและการปรับตัวในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ขณะนี้มีรูปแบบและระบบการทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่มีศักยภาพและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงขาดการสนับสนุนในเชิงทรัพยากรและระยะเวลาในการดำเนินงาน
ในประเทศไทย ขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดน่านและเชียงใหม่กำลังประสบภาวะขาดแคลนน้ำเนื่องจากภัยแล้ง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะสามารถทำการเกษตรได้แม้ในช่วงเวลาที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญโดยการใช้การจัดสรรพื้นที่ในรูปแบบ "โคก หนอง นา" ซึ่งใช้การขุดบ่อเพื่อเก็บกักน้ำ ทำให้มีน้ำสำรองไว้สำหรับพืชแม้ว่าจะเป็นในช่วงฤดูแล้ง ช่วยรักษาพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์แม้ว่าจะอยู่ท่ามกลางพื้นที่เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว รูปแบบการทำเกษตรวิธีนี้เป็นความหวังของเกษตรกรในอนาคต หลักการณ์ความสำเร็จของเกษตรกรรมรูปแบบนี้คือการปลูกพืชที่มีความหลากหลาย และการควบคุมกระบวนการของระบบนิเวศเช่นการทำปุ๋ยหมักเพื่อเป็นอาหารให้ดิน การกักเก็บน้ำ และการปลูกต้นไม้เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่
ในประเทศฟิลิปปินส์ เครือข่าย Rice Watch Action ร่วมกับกรีนพีซ องค์กรเอกชน หน่วยงานราชการท้องถิ่น และ กรมอุตุนิยมวิทยา (PAGASA) ได้จัดอบรมเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลายเขตเทศบาลเพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความเข้าใจรูปแบบของสภาพอากาศในท้องถิ่น และวิธีการทำเกษตรเชิงนิเวศ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรสามารถจัดการกับผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญได้ เกษตรกรสามารถสมัครบริการรับข้อมูลเรื่องสภาพอากาศของท้องถิ่นผ่านทาง SMS ระบบดังกล่าวเป็นการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้
"ข่าวดีก็คือเราไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์เพราะมีกลุ่มชุมชนที่ริเริ่มขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม งานดังกล่าวยังคงต้องการการสนับสนุนและยกระดับไปสู่การพัฒนาระบบการกษตรและอาหารที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศให้ได้อย่าง เพื่อป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นกับภาคการเกษตรในอนาคต" วิลเฮลมินา กล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
วิลเฮลมินา เพลเลกรินา ผู้จัดการงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โทร.: +63917-5308507 อีเมล: wilhelmina.pelegrina@greenpeace.org