กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--บีโอไอ
เอกชนชมกิจกรรมบีโอไอ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต่างจังหวัดนำ IT มาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เตรียมเดินสายอีก 2 ภาค เหนือและใต้ในเดือนพ.ค.- มิ.ย.นี้
นายวัชระพงศ์ ยะไวทย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท MAX Saving (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโครงการ "บีโอไอร่วม ISP พัฒนาธุรกิจไทยสู่ E-Business" ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พาผู้ให้บริการอินเตอร์เนตเดินสายจัดสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องของการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ประกอบการในแต่ละภาคทั่วประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก ถือเป็นขั้นแรกที่ภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญในการให้ความรู้เรื่องของการทำธุรกิจแบบ E-Business อีกทั้งยังเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายให้ ISP หรือซัพพลายเออร์ให้ได้มาพบกับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้อินเตอร์เนตในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง
"จะเห็นได้ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดมีความกระตือรือร้นในการที่จะทำธุรกิจผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในตลาดโลก "
เช่นเดียวกับนางสาวมาลีวัลย์ ชลสิริรุ่งสกุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Thomas Idea จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้นอกจากจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภาคเอกชนในส่วนภูมิภาค เพื่อให้ตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนการผลิตแล้วยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)อีกด้วย อย่างไรก็ตามภาครัฐควรมีการจัดทำแผนงานทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และต่อไปในระยะยาว เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อผู้ประกอบการเข้ามาใช้บริการฐานข้อมูล ASID (ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสนับสนุนอาเซียน : ASEAN Supporting Industry Database) ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยเอง ที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจได้ทั้งในฐานะเป็นผู้ผลิต ผู้ซื้อ หรือขยายการลงทุน
ด้านนายยุทธนา โชติเสรีวิทย์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Biz dimension จำกัด เปิดเปิดเผยว่า โครงการของบีโอไอ จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ได้เปิดตัวเองสู่ตลาดโลก และเลือกจัดในจังหวัดที่เหมาะสม เพราะมีผู้ประกอบการที่หลากหลายและค่อนข้างที่จะมีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เป็นไปในรูปแบบของ E-Business
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการนำอินเตอร์เนตมาประกอบการทำธุรกิจจะต้องมีการปูพื้นฐานในเรื่องของประโยชน์ที่จะได้รับให้ผู้ประกอบการทราบ เพราะผลของโครงการอาจจะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง โดยจะต้องมีกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจในลักษณะนี้ให้เห็นหลังจากนั้นจึงจะมีผู้ประกอบการทำตาม
ขณะที่นายประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท Thai Amazon on-line จำกัด กล่าวว่า การตื่นตัวของผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาคมีมาก แต่การที่ยังไม่ได้สัมผัสกับเรื่องนี้มากนักทำให้ไม่เห็นผลที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นภาครัฐจะต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการให้ความรู้แล้ว หรืออาจจะต้องมีการจัดอบรมสัมมนาเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริงและมีการปรับปรุงในแต่ละขั้นตอนด้วย หรืออาจจะต้องมีการจัดทำรายงานความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับความก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ๆ ส่งให้แก่ผู้ประกอบการด้วย
การจัดเดินสายเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดของบีโอไอ ยังเหลืออีก 2 ภาค คือ ภาคเหนือและภาคใต้ โดยเริ่มที่จังหวัดพิษณุโลก (21 พ.ค.44) จังหวัดเชียงใหม่ (23 พ.ค.44) เชียงราย (25 พ.ค.44) ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ (053) 203-397 ต่อ 400 e-mail: chmai@boi.go.th และภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต (11 มิ.ย.44) สุราษฎร์ธานี (13 มิ.ย.44)และสงขลา(15 มิ.ย.44) ติดต่อที่ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคใต้ 1 จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (074) 347-161-5 e-mail: songkhla@boi.go.th และศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคใต้ 2 โทรศัพท์ (077) 284-637 e-mail: surat@boi.go.th-- จบ--
-อน-