กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ชัยพีอาร์
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เดินหน้าสนองนโยบายการพัฒนาชุมชนฐานรากให้เข้มแข็ง จัด "สัมมนาขยายผลการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน อพท.สู่ชุมชนท่องเที่ยวใน ๕ เขตพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยว (๕ คลัสเตอร์) ประจำปี ๒๕๕๙" เพื่อก้าวสู่การเป็นพื้นที่บูรณาการต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยมีพัฒนาการและความก้าวหน้ามากกว่าที่คาดคิดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน (Co-creation) ภายใต้การประสาน ส่งเสริม และสนับสนุน ที่ดำเนินการโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.
"ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศไทย รัฐบาลได้ใช้ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทย พ.ศ. ๒๕๕๘–๒๕๖๐ เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล และให้ความสำคัญกับการพัฒนาในรูปแบบ "ประชารัฐ" ซึ่งนอกเหนือจากภาครัฐและภาคเอกชนแล้ว องค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนการพัฒนาในรูปแบบนี้ให้เกิดความยั่งยืน คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงเป็นแนวทางและโอกาสให้ภาคประชาชน ได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนา เพิ่มมูลค่า และต่อยอดทรัพยากรท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยวในแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวของท้องถิ่นเอง"
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในระดับนโยบาย คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาบูรณาการการทำงานกับ อพท. ในการนำองค์ความรู้และกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนขยายผลจากพื้นที่พิเศษให้ออกไปสู่พื้นที่ชุมชนต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการความเชี่ยวชาญของ อพท. กับกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังการทำงานกับหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ กรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งหน่วยงานต่างๆในคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ
"งานสัมมนาวันนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของภาคประชาชนอย่างแท้จริง โดย อพท. จะนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการทำงานเสริมสร้างศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษมาถ่ายทอดการทำงานเพื่อเชื่อมโยงกับชุมชนทั่วประเทศให้เดินหน้าไปด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง ๕ คลัสเตอร์ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย"
ด้านนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท. เปิดเผยว่า เกณฑ์รับรองแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนของ อพท. ประยุกต์มาจากแนวทางการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับสากลของ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) โดย อพท. ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีเครื่องมือการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วม ๙+๑ Building Blocks เป็นกรอบแนวคิดในการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ตั้งแต่ต้นทาง คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ไปจนถึงปลายทาง คือ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า การบูรณาการเชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในระดับประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ซึ่ง อพท. จัดทำร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดงานสัมมนาขยายผลการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน อพท.สู่ชุมชนใน ๕ เขตพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยว (๕ คลัสเตอร์) ประจำปี ๒๕๕๙ ในวันนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญในการเชื่อมโยงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนใน ๒ มิติ คือ
๑. การเชื่อมโยงชุมชนระดับแนวหน้าของประเทศไทยที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยแนวทางที่หลากหลายทั้งในเขตพื้นที่พิเศษของ อพท. และในเขตพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง ๕ คลัสเตอร์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สังเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ และต่อยอดขยายผลความรู้ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยให้มุ่งสู่การพัฒนาเชิงคุณภาพเพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเกิดประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด
๒. เพื่อเชื่อมโยงบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตั้งแต่ภาคนโยบายไปจนถึงภาคปฏิบัติโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติทั้ง ๕ คลัสเตอร์ เพื่อให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว และสะท้อนอัตลักษณ์ที่แท้จริงของประเทศไทยอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของชุมชนและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อไป
ทั้งนี้การสัมมนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยตัวแทนชุมชนต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของหน่วยงานภาคีความร่วมมือและที่อยู่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง ๕ คลัสเตอร์ ๒๓ จังหวัด ตัวแทนจากชุมชนต้นแบบ อพท. ๑๔ ชุมชน รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นภาคีความร่วมมือกับ อพท.