กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
ความลงตัวของ 16 นักศึกษา 16 แรงบันดาลใจ ที่ได้สะสมตลอดระยะเวลา 4 ปี ของนักศึกษาสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ผ่านการออกแบบและตัดเย็บ ผ่านเสื้อผ้าใส่เทคนิคและแนวคิดเฉพาะตัวของแต่ละคน จัดแสดงภายในงาน THESIS EXHIBITION RMUTT DO I-DEA 8 "ศิลป์-ปะ-กัน" ณ ชั้น 3 zpell @ future park rangsit
นายสุระจิตร แก่นพิมพ์ ประธานหลักสูตรการออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ เปิดเผยว่า ประสบการณ์ของนักศึกษาตลอดเวลา 4 ปี มีความหลากหลายของแรงบันดาลใจ ที่แต่ละคนมีความชอบส่วนตัว ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ การตัดเย็บและตกแต่งด้วยความละเอียด พิถีพิถัน ผ่านเทคนิคที่ได้เรียนรู้ในห้องเรียน และนอกห้องเรียน ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจ ในการสร้างสรรค์งาน โดยศิลปนิพนธ์ของนักศึกษาจะมีความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการนำความเป็นไทย ความเป็นสากลเข้ามาด้วยกัน บอกเล่าเรื่องราวลงบนพื้นผ้า ซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพ ความรู้ ความสามารถของงาน และเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้ 16 นักศึกษา 16 แรงบันดาลใจ กลายเป็นผลงานทั้งหมด 112 ชุด
นายณัฐพงศ์ โสภณวิโรจน์ เจ้าของผลงานการออกแบบชุดลำลอง การศึกษารูปแบบเครื่องแต่งกายสตรียุคศิลปะอาร์ตเดคโค เล่าว่า รูปแบบเครื่องแต่งกายสตรีในยุคอาร์ตเดตโค (ART DECO) สตรีมีการปฏิวัติตัวเองให้มีบทบาททางสังคม เลิกการใส่กระโปรงสุ่มบานๆ ที่ดูใหญ่ หันมามีบทบาททางสังคมเริ่มเข้ามาทำงาน ทำให้รูปแบบการแต่งกายเปลี่ยนไป เป็นยุคของการบุกเบิกสตรีลอกเลียนแบบเครื่องแต่งกายบุรุษ มีการใส่สูทสวมทับเดรสทรงตรงกระดาน สวมสูททับกางเกงเอวสูง หรือใส่สูทสวมทับกระโปรงทรงตรง ไม่มีการเข้ารูปเหมือนแบบในสมัยก่อนๆ ด้วยลวดลายของหน้ากากที่มีความสวยงาม และด้วยความโดดเด่น จึงได้ดึงมาออกแบบเป็นชุดลำลองสตรีกึ่งทำงาน
นางสาวอัจฉรา ภูพันนา เจ้าของผลงงานการออกแบบชุดราตรี การศึกษาผลงานศิลปะของ "กุสตาฟคลิมต์"เล่าว่า ได้รับแนวคิดมาจาก "กุสตาฟคลิมต์" จิตรกร และมัณฑนากรผู้ยิ่งใหญ่แห่งออสเตรีย ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ สู่ผลงานในรูปแบบศิลปะอีโรติก อาร์ต และการใช้สีทองที่ประดับประดาด้วยสีสัน จากเอกลักษณ์การสร้างสรรค์ผลงาน เกิดเป็นแรงบันดาลใจนำมาออกแบบชุดราตรี ตกแต่งชุดด้วยเทคนิคการพิมพ์ที่เกิดจากการออกแบบลวดลายใหม่ การปักทับด้วยลูกปัด เลื่อมสีทอง เชือกถัก ลงบนลายผ้าอีกชั้น เพื่อให้สีทองตัดทับกับสีของลวดลายทำให้เกิดเป็นการทับซ้อน และเกิดพื้นผิวหลายระดับที่มีมิติมากขึ้น
นายนภดล รอบรู้ เจ้าของผลงานการออกแบบชุดสตรีปาร์ตี้ การศึกษาเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์อินเดีย เล่าว่า นำลักษณะของเครื่องแต่งกายนาฏศิลป์อินเดียมาประยุกต์ในการออกแบบชุดปาร์ตี้ ตัดทอนโดยใช้เทคนิค การปักตกแต่งด้วยลูกปัด การตัดต่อผ้าแทรกใยสังเคราะห์ การอัดพลีท และการปักลายลงบนผ้า เพื่อสื่อถึงวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของนาฏศิลป์อินเดียให้ออกมาชัดเจนมากที่สุด โดยนาฏศิลป์อินเดียมีความสำคัญกับคติความเชื่อและความศรัทธาในศาสนาฮินดู เครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ที่มีอิทธิพลมาจากการแต่งกายส่าหรีรวมถึงการแต่งกายที่ได้รับอิทธิผลมาจากชาติตะวันตก
นายชีวุฒิ ชอบด้วยไถ เจ้าของผลงานการออกแบบชุดราตรี การศึกษาลักษณะของพืชในป่าฝนเขตร้อน เล่าว่า แนวคิดในการนำป่าเขตร้อน หรือป่าดงดิบชื้น เป็นป่าที่มีพืชพรรณ หลากหลายชนิด เสมือนเป็นการรวบรวมความอุดมสมบูรณ์ทั้งหมดมาไว้ในป่าแห่งนี้ โดยการสร้างสรรค์ชุดนำสีสันโครงสร้างพืช และรูปแบบของป่า มาผ่านการผสมผสานกับความหรูหราด้วยเทคนิคการปัก การเลเซอร์คัท จนกลายเป็นชุดราตรีที่มีความสวยงาม
นายรัฐพล หงส์สมบุญ เจ้าของผลงานการออกแบบชุดปาร์ตี้ การศึกษาเครื่องแต่งกายซามูไร เล่าว่า เครื่องแต่งการซามูไร ความลงตัว มีเอกลักษณ์และรูปแบบเฉพาะตัวที่โดดเด่นแสดงให้เห็นความแข็งแกร่ง น่าเกรงขาม ความประณีต ละเอียดอ่อน และพิถีพิถันของกระบวนการการสร้างเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ประยุกต์ ตัดทอน และดัดแปลง โดยการใช้สี ลวดลาย วัสดุ และเทคนิคร่วมสมัยผ่านรูปแบบของชุดปาร์ตี้สตรี ถนนสายแฟชั่นของเมืองไทย ต้องต้อนรับว่าที่ดีไซน์เนอร์หน้าใหม่ ที่พร้อมเตรียมก้าวออกไปสู่วงการแฟชั่นอย่างเต็มตัว