กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--โรงพยาบาลเวชธานี
จากสถิติในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยใหม่ที่เป็น "โรคมะเร็งรังไข่" เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 -6,000 รายทุกปี และถือว่าเป็นมหันตภัยร้ายที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเป็นอันดับต้น ๆ ในบรรดาโรคมะเร็งที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง มะเร็งรังไข่สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ แต่จะพบมากผู้หญิงช่วงอายุมากกว่า 50 ปี หรือช่วงวัยหมดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้หญิงที่มีอายุน้อยเริ่มมีความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งรังไข่กันมากขึ้น ซึ่งอาจเนื่องจากความผิดปกติของยีนส์ทางกรรมพันธุ์ หรือจากสภาพแวดล้อมและอาหารการกินที่เปลี่ยนไป รวมทั้งมลพิษต่างๆที่เพิ่มมากขึ้น
สาเหตุการเกิดมะเร็งในรังไข่ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัด อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้หญิงที่มีประจำเดือนเร็วและประจำเดือนหมดช้า ผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรยาก และผู้หญิงที่มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ได้มากขึ้น แต่ผู้หญิงที่มีลูกและเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่ และการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน รวมทั้งการทำหมัน สามารถช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ได้ ทั้งนี้เชื่อว่าการเกิดแผลที่ผิวรังไข่เนื่องจากการตกไข่ซ้ำๆ เป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นการเกิดมะเร็งรังไข่นั่นเอง
อาการและระยะต่าง ๆ ของโรคมะเร็งรังไข่
โดยทั่วไปมะเร็งรังไข่ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการ อาการต่างๆมักแสดงเมื่อมะเร็งมีการลุกลามแล้ว สำหรับอาการที่พบบ่อย ได้แก่ คลำได้ก้อนในท้อง มีท้องโตขึ้นหรือมีน้ำในท้อง ปวดท้อง เบื่ออาหาร และในผู้ที่เป็นมะเร็งรังไข่ชนิดที่สร้างฮอร์โมนเพศ อาจมีประจำเดือนมาผิดปกติได้ ซึ่งมะเร็งรังไข่แบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เซลล์มะเร็งยังอยู่ภายในรังไข่ซึ่งสามารถรักษาได้โดยการผ่าตัด แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการ ทำให้ผู้ป่วยไม่มารับการตรวจรักษา
ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งเริ่มกระจายจากรังไข่สู่อวัยวะในช่องเชิงกราน เช่น ท่อนำไข่ หรือมดลูก ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการปวดท้องน้อย หรือคลำได้ก้อน
ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งเริ่มกระจายเข้าสู่เยื่อบุช่องท้อง ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยมีท้องขยายใหญ่อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีน้ำในช่องท้อง รวมทั้งท้องอืด กินอาหารได้น้อย
ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งเริ่มกระจายจากรังไข่ไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น ตับ ปอด ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกัน แล้วแต่อวัยวะที่มะเร็งลุกลามไป
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งรังไข่ แพทย์จะทำประเมินอาการของผู้ป่วยรวมทั้งโรคประจำตัวต่างๆ และวางแผนการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบด้วย การผ่าตัด เพื่อนำก้อนมะเร็งออก และประเมินการกระจายของโรคว่าอยู่ในช่วงระยะไหน และการให้ ยาเคมีบำบัด เพื่อป้องกันหรือชะลอการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยหลังการรักษาแพทย์จะนัดผู้ป่วยเพื่อตรวจติดตามอาการเป็นระยะๆ ทุก 3 - 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยไม่มีโรคกลับซ้ำ
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลับซ้ำ แพทย์อาจทำการผ่าตัดหรือให้เคมีบำบัดซ้ำ รวมถึงอาจใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วยในบางราย เช่น การให้ฮอร์โมน การให้รังสีรักษา เป็นต้น และสำหรับผู้ป่วยที่มีมะเร็งลุกลามมาก ๆ ก็ยังสามารให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการเพื่อลดความทรมานจากโรคได้
ถึงแม้มะเร็งรังไข่จะน่ากลัว และเป็นภัยเงียบที่มักจะไม่แสดงอาการและตรวจพบได้ยากในระยะแรก แต่หากผู้หญิงเข้ามารับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจรวมถึงการตรวจอัลตร้าซาวด์อุ้งเชิงกราน และการตรวจเลือดด้วยแล้ว ก็มีโอกาสมากขึ้นที่แพทย์จะสามารถตรวจพบมะเร็งรังไข่ในระยะต้นซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากกว่าจะรอจนมีอาการแล้วจึงมารับการตรวจ