กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย และ เครือข่ายจุฬาฯนานาชาติ จัดประชุมวิชาการ "The 7th Research Symposium on Petrochemical and Materials Technology and The 22nd PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers" ซึ่งมีการบรรยายพิเศษโดยประธานสภาอุตสาหกรรมรวม และ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) อีกทั้งภายในงานยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยจากนานาประเทศเช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ ฯลฯ รวมถึงการออกบูธเพื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ จากบริษัทชั้นนำด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และพอลิเมอร์
การนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. คุณหญิงสุชาดา กีรนันท์ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมกล่าวว่า "รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกล่าวเปิดงานวิชาการ "The 7th Research Symposium on Petrochemical and Materials Technology and The 22nd PPC Symposium on Petroleum, Petrochemicals, and Polymers"ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการสารและของเสียอันตราย และ เครือข่ายจุฬาฯนานาชาติ ที่สามารถผลิตบัณฑิตและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพต่อวงวิชาการและนำมาเผยแพร่สู่สากล รวมถึงขอแสดงความยินดีแก่นิสิต มหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตทุกท่านที่ได้นำเสนอผลงานวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งเชื้อได้ว่ากว่าจะมีงานวิจัยที่ดีและมีคุณภาพนั้นจักต้องใช้ความพยายามและอุตสาหะเป็นอย่างสูงดังนั้นผลงานวิจัยทุกชิ้นที่นำมาเสนอในวันนี้ คงได้สร้างความภาคภูมิใจแก่ตัวนิสิตเองรวมถึงครอบครัวและสถาบันการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ คุณเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรม และขอขอบคุณ คุณอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) กับการบรรยายพิเศษอันยอดเยี่ยม พร้อมทั้งขอขอบคุณท่านผู้บรรยายพิเศษทุกท่าน รวมถึงหน่วยงานร่วม ผู้สนับสนุน และคณะผู้จัด ที่ทำให้เกิดการประชุมวิชาการอันมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศและวงวิชาการของประเทศไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมวิชาการนี้จะมีประโยชน์ต่อการนำไปพัฒนาต่อยอดให้กับภาคอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืน และพร้อมก้าวสู่ระดับสากลในอนาคต