มะเร็งระบบโลหิต ไม่ 'ร้าย’ อย่างที่คิด

ข่าวทั่วไป Thursday June 9, 2016 12:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น มะเร็ง โรคร้ายที่หลายคนหวั่นกลัว แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ ผสานประสบการณ์ของแพทย์ช่วยรักษาหรือควบคุมโรคร้าย ให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น เช่นเดียวกับโรคมะเร็งระบบโลหิต ศ.นพ.สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถกล่าวว่า ปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคมะเร็งโลหิตวิทยา มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"โรคระบบโลหิตวิทยาเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนไทย และต่างชาติ โดยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่มีความรุนแรง และรักษาได้ยากส่วนโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งไขกระดูกเอ็มเอ็ม เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไป เพราะระบบเลือดเป็นระบบที่สำคัญของร่างกายรองจากปอดและหัวใจ ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย"โรคทางระบบโลหิตวิทยา หมายถึง โรคหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด ไขกระดูก ระบบ reticulo-endothelial ต่อมน้ำเหลืองและระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งปัจจัยของการแข็งตัวของเลือด แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มโรคเลือดที่เป็นมะเร็ง (Hematologic Malignancy) ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลิวคีเมีย (Leukemia), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma), มะเร็งไขกระดูกชนิดเอ็มเอ็ม (Multiple Myeloma) กลุ่มโรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง (Blood Disorder) ได้แก่ โลหิตจาง (Anemia)ต่างๆเช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia), โรคไขกระดูกไม่ทำงาน (Aplastic Anemia) โรคเลือดออกผิดปกติ เช่น เกล็ดเลือดต่ำจากภาวะ Autoimmune)และโรคฮีโมฟิเลีย กลุ่มโรคอื่นๆ ที่มีอาการทางเลือด เช่น ภาวะไตวายทำให้เกิดโลหิตจาง พญ.นุชนันต์ อารีธรรมศิริกุล แพทย์ด้านโลหิตวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมา (Multiple Myeloma) เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้ประมาณ 15% ของมะเร็งทางโลหิตวิทยาทั้งหมด อุบัติการณ์การเกิดโรค 4 ต่อ 100,000 คนต่อปี มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอายุอยู่ในช่วง 60-75 ปี เกิดจากการที่มีความผิดปกติของการแบ่งตัวเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งในไขกระดูกที่เรียกว่าพลาสม่าเซลล์ ในภาวะปกติพลาสม่าเซลล์จะมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบลูลิน (Immunoglobulin)แต่เมื่อพลาสม่าเซลล์มีความผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมาจะทำให้มีความผิดปกติในการสร้างอิมมูโนโกลบลูลิน และทำให้โปรตีนบางชนิดเพิ่มขึ้นในร่างกายที่เรียกว่า เอ็มโปรตีน (Monoclonal protein; M-protein) เอ็มโปรตีนที่สูงในร่ายกายจะทำให้การทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องผิดปกติ นำไปสู่อาการที่พบบ่อยของโรคได้แก่ ภาวะโลหิตจาง ภาวะไตเสื่อม กระดูกพรุนหรือกระดูกหัก และภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ในผู้ป่วยบางรายอาจมาด้วยก้อนเนื้องอกพลาสม่าเซลล์ที่เรียกว่าพลาสม่าไซโตม่า มักพบบ่อยที่กระดูกสันหลังหรือกระดูกซี่โครง บางครั้งมีการกดเบียดไขสันหลังทำให้มีอาการปวดหลังหรือขาอ่อนแรง"การวินิจฉัยโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมา ทำได้โดยการเจาะไขกระดูก จะตรวจพบพลาสม่าเซลล์ที่มีการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติในไขกระดูก, การตรวจพบเอ็มโปรตีนในเลือด นอกจากนั้นยังอาจพบระดับเม็ดเลือดแดงต่ำ ระดับแคลเซียมในเลือดสูงและค่าทำงานของไตผิดปกติ, การตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีโปรตีนผิดปกติรั่วจากไต หรือเอ็กซเรย์กระดูกทั่วร่างกาย (Skeletal bone survey) อาจพบรอยโรคกระดูกสลาย กระดูกบาง หรือกระดูกหักจากโรค ในบางรายที่มีอาการปวดหลังหรือกระดูกสันหลังหักอาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมโดยวิธี MRI หรือ CT scan" แพทย์ด้านโลหิตวิทยาชี้การรักษาโรคมะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมาได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การใช้ยาสมัยใหม่ ทำให้การรักษาได้ผลดีทั้งด้านการตอบสนองดีขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง และทำให้อายุยืนยาวกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิม และสำหรับในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 65 ปีและแข็งแรง ควรได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากตนเอง ศ.นพ.สุรพล เสริมว่า การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก เป็นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่ปกติให้กับผู้ป่วยเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้อาจเป็นของตัวเองหรือของผู้ให้ สามารถเก็บได้มาจาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ คือ ไขกระดูก กระแสเลือด และสายสะดือทารก เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติ สามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาที่มี HLA เข้ากันได้ โดยโอกาสการเข้ากันได้จะอยู่ที่ประมาณ 25% หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ แต่ตรวจพบว่ามีความเข้ากันได้กับเซลล์ของผู้ป่วย ซึ่งโอกาสที่เซลล์จะเข้ากันได้จะลดน้อยลงกว่าผู้บริจาคซึ่งเป็นพี่น้องมากประมาณ 1 ต่อ 50,000 ถึง 100,000 การหาเซลล์ต้นกำเนิดที่เข้ากับผู้ป่วยไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้"แต่วิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบัน มีแนวทางการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เซลล์จากบิดามารดาหรือบุตรของผู้ป่วย ซึ่งมีความเข้ากันได้เพียงครึ่งเดียวเป็นทางเลือกในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดได้ หรือในโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งไขกระดูกมัยอีโลมา สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากตัวผู้ป่วยเอง" เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งในบางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย เซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่างๆ ที่แข็งแรงในที่สุด การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็งระบบเลือด ถ้าทำได้เร็วจะมีโอกาสรักษาหายได้ ภาวะแทรกซ้อนไม่มาก โอกาสที่โรคจะกลับเป็นซ้ำมีน้อย การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันให้ได้ผลดีควรปลูกถ่ายภายหลังบำบัดโรคจนสงบภายในครั้งแรก อาการที่สงสัยจะเป็นโรคเลือดและควรมาพบแพทย์ เช่น ภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปพร้อมกัน เช่น เลือดออกตามไรฟันพร้อมกับเลือดกำเดาไหล หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถ เป็นโรงพยาบาลที่ให้การบริการและการรักษาผู้ป่วยโรคเลือดทุกชนิด โดยทีมแพทย์สาขาโรคเลือดอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบด้วยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ ทั้งโลหิตแพทย์ และแพทย์ที่ปรึกษาทุกระบบ มีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน มีศูนย์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดและไขกระดูกที่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก รวมทั้งมีการเตรียมเลือดและส่วนประกอบของเลือดที่มีความปลอดภัย สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ