กทม.จับมือ FAO พัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีให้เป็นตัวอย่างในภาคพื้นเอเซีย

ข่าวทั่วไป Thursday June 21, 2001 09:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กทม.
น.พ.ประพันธ์ กิติสิน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการตามโครงการพัฒนาสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีและศูนย์อาหารในเขตกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.44 ที่ผ่านมาว่า เพื่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของกทม.คณะกรรมการฯจึงกำหนดให้มีเฉพาะ จุดที่อนุญาตให้ขายอาหารได้และจุดที่ไม่อนุญาตให้ทำการขายอาหาร ทั้งนี้จะไม่มีจุดทบทวนอีกต่อไป สำหรับร้านค้าที่จำหน่ายอาหารต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะ 10 ประการของกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1.สวมหมวก และ ผ้ากันเปื้อนสีขาวสะอาด 2. แผงจำหน่ายอาหารสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. 3.อาหารมีการปกปิดกันฝุ่นละออง 4.เครื่องปรุงมีฉลาก อย. 5.ภาชนะใส่เครื่องปรุงทำจากแก้ว กระเบื้องเคลือบ หรือสเตนเลสมีฝาปิด 6.น้ำแข็งใช้ดื่มไม่แช่ปะปนกับอาหารสด 7.ภาชนะใส่อาหารทำด้วยแก้ว กระเบื้องเคลือบ สเตนเลส หรือเมลานินไม่ตกแต่งสี 8. มีการล้างภาชนะ 3 ขั้นตอนและเปลี่ยนน้ำสม่ำเสมอ 9.ใส่ช้อนส้อมในภาชนะโปร่งสะอาด หันด้ามขึ้น 10.ถังขยะมีฝาปิด ไม่รั่ว และมีการกำจัดขยะทุกวัน ซึ่งถ้าร้านค้าใดปฏิบัติได้ครบตามหลักสุขลักษณะ 10 ประการดังกล่าว กรุงเทพมหานครก็จะพิจารณามอบดาวเขียวให้กับผู้ค้ารายนั้น จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจของแต่ละเขตออกตรวจสอบผู้ค้าอาหารที่ได้รับดาวเขียวไปแล้วว่า ยังคงมาตรฐานการจำหน่ายอาหารตามที่ได้รับดาวเขียวอยู่หรือไม่ หากปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะได้ไม่ครบ 10 ประการตามที่กทม.กำหนด เจ้าหน้าที่จะเตือนให้ผู้ค้านั้นทำการปรับปรุงแก้ไข ถ้าเจ้าหน้าที่ทำการเตือนผู้ค้าถึง 3 ครั้งแล้วแต่ผู้ค้ายังไม่มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามสุขลักษณะ 10 ประการ กทม.จะยึดดาวเขียวที่ให้ผู้ค้าไปแล้วนั้นคืน
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯยังได้มีมติด้วยว่า คณะกรรมการ ฯ จะได้มอบเกียรติบัตรให้กับผู้ค้าอาหารที่ปรับปรุงหรือพัฒนามาตราฐานการจำหน่ายอาหารให้สูงกว่าเกณฑ์สุขลักษณะ 10 ประการที่ กทม.กำหนดไว้ เช่น สถานที่ตั้งเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เป็นอุปสรรครบกวนผู้อื่น, ภาชนะใส่อาหาร ช้อนหรือตะเกียบที่ใช้สัมผัสอาหารต้องล้างทำความสะอาดและต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยสารเคมีหรือความร้อน, การประกอบ ปรุงอาหารต้องไม่ใช่ถังก๊าซปิคนิค, พริกป่น ถั่วลิสงต้องไม่ขึ้นราและมีการเปลี่ยนใหม่เสมอ, ส่งเสริมให้มีการใช้ช้อนกลางตักอาหาร และมีบ่อดักไขมัน นอกจากนี้คณะกรรมการ ฯ ยังกำลังพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์ที่จะมอบดาวเงินให้กับผู้ค้าอาหารที่รักษามาตรฐานดาวเขียวได้เกิน 3 ปีติดต่อกันขึ้นไป ซึ่งมาตรฐานดาวเงินนี้จะมีหลักเกณฑ์สูงกว่ามาตรฐานดาวเขียวที่ กทม.มอบไปแล้วโดยกทม.จะพิจารณาเขตนำร่องอย่างน้อย 1 เขตเพื่อดำเนินการในเรื่อง ดังกล่าว
สำหรับผู้ค้าบางรายที่ได้รับดาวเขียวจากกทม.ไปแล้ว แต่ไม่รักษามาตรฐานที่กำหนดไว้ เช่น จำหน่ายอาหารที่มีสภาพเสี่ยงต่อการบริโภคของประชาชน เป็นต้น เกี่ยวกับเรื่องนี้กรุงเทพมหานครได้หารือกับผู้แทนองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เพื่อกำหนดแนวทางเร่งรัดปรับปรุงสภาพแผงลอยจำหน่ายอาหารทั้งหมดให้มีคุณภาพเหมาะสมอีกครั้ง รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์อาหารจำหน่ายอาหารราคาถูกได้สุขลักษณะตามพื้นที่แต่ละเขตขึ้น และได้จัดให้มี “โครงการเสริมสร้างคุณภาพอาหารริมบาทวิถีและศูนย์อาหารในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง กทม. และ FAO โดย FAO จะช่วยให้คำแนะนำและอบรมเจ้าหน้าที่ของ กทม.ในการพัฒนาเรื่องสุขาภิบาลอาหารริมบาทวิถีให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ ตลอดจนจะได้มีการออกแบบแผงลอยหรือรถเข็นจำหน่ายอาหารให้ถูกต้องตามสุขลักษณะ รวมทั้งพัฒนาเกี่ยวกับการสุขาภิบาลอาหารของ กทม. ให้เป็นตัวอย่างในภาคพื้นเอเชียต่อไป--จบ--
-นห-

แท็ก เอเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ