กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--มีเดีย
โดย พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน
แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก
โรงพยาบาลพระรามเก้า
อันตรายในช่วงหน้าฝนนี้นอกจากโรคไข้หวัดที่มักพบบ่อยในช่วงนี้แล้ว ในเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนก็มักพบโรคมือเท้าปากแพร่ระบาดได้มาก โดยโรคนี้เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัสที่อยู่ในลำไส้คน ซึ่งทารกและเด็กเล็กมีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ได้ง่าย และจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ส่วนผู้ใหญ่ก็พบเป็นโรคนี้ได้ ในประเทศไทยโรคนี้มักพบในสถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจเด็ก รพ.พระรามเก้า กล่าวว่า โรคมือเท้าปากสามารถติดต่อกันได้โดยง่าย จากการสัมผัส น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และน้ำในตุ่มพองของผู้ป่วยโดยเข้าทางปากโดยตรง หรืออาจจะติดมากับมือ ของเล่น การไอจาม การใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ผู้ป่วยจะมีไข้ 2-4 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บภายในปากและคอ ปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดมีจุดหรือผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม เพดานปาก ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือที่ก้น ต่อมาผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ โดยทั่วไปโรคนี้มักมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนอาการจะมีความรุนแรงจนอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยในผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้ จนมีอาการขาดน้ำ ก้านสมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ดังนั้นหากเด็กมีอาการ ซึมลง ไม่รับประทานอาหารและน้ำ อาเจียนบ่อย ดูเหนื่อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ปัจจุบันโรคมือ เท้า ปาก ไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาได้อย่างจำเพาะ การรักษาจึงเป็นเพียงการประคองรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด หยอดยาชาในปากเพื่อลดอาการเจ็บแผลที่ปาก ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำหรือให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ส่วนเด็กที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
พญ.นงนภัส เก้าเอี้ยน กล่าวเสริมว่า สำหรับการป้องกันโรคนี้นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกดูแลรักษาความสะอาดโดยการล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่ายทุกครั้ง และควรดูแลอุปกรณ์การรับประทานอาหารให้สะอาด ไม่ใช้ช้อน ส้อม แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น หรือร่วมกับผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก เนื่องจากจะทำให้มีโอกาสติดโรคนี้ได้ง่าย ในส่วนของสถานศึกษาควรดูแลความสะอาดของของเล่นเด็ก โดยการทำความสะอาดของเล่น โต๊ะ เก้าอี้ ด้วยน้ำยาทำความสะอาด หมั่นดูแลให้เด็กล้างมือ และตัดเล็บให้สั้น หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากหรือพบเด็กป่วยหลายคน ควรพิจารณาปิดห้องเรียนเพื่อทำความสะอาด และให้เด็กที่ป่วยหยุดพักการเรียนเพื่อรักษาตัวให้หายก่อน ทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปยังเด็กคนอื่นๆ ด้วย