กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล
โดยไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด
paiboona@mail.ilct.co.th
เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้รับอีเมล์คำถามจากคุณณรงค์ผู้อ่านท่านหนึ่งในเรื่องของการใช้บัตรเครดิตซื้อสินค้าบนอินเตอร์เน็ต หรือที่เราเรียกสั้นๆว่า ชอปปิ้ง โดยคุณณรงค์เล่าว่า ได้เข้าไปประมูลซื้อนาฬิกายี่ห้อ Omega จากเว็บไซท์ ebay.com โดยผู้ขายสินค้าดังกล่าวเป็นชาวสโลเวเนีย คุณณรงค์ได้ชำระเงินค่าประมูลซื้อนาฬิกาเป็นเงินสดจำนวน 5,000 บาท โดยโอนเงินผ่านทางธนาคาร สาเหตุที่คุณณรงค์ชำระเป็นเงินสดเนื่องจากกลัวแฮคเกอร์จะเจาะข้อมูลของเว็บไซท์และนำเอาหมายเลขบัตรเครดิตไปใช้ในทางประโยชน์ส่วนตัว เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยพบว่า นาฬิกา Omega ดังกล่าวเป็นของปลอม คุณณรงค์จึงได้ติดต่อไปยังเว็บไซท์ ebay.com เพื่อขอเงินค่าสินค้าคืน ต่อมาได้รับแจ้งจากเว็บไซท์ ebay.com ว่า เว็บไซท์ ebay.com ได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายสินค้าเป็นที่เรียบร้อยก่อนหน้าที่คุณณรงค์จะขอเงินค่าสินค้าคืน ebay.com ไม่สามารถติดตามเงินคืนได้ และที่อยู่ของผู้ขายสินค้าชาวสโลเวเนียนั้นไม่มีอยู่จริง ข้อซักถามของคุณณรงค์ คือ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตหรือไม่ และหากใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้ามีความเสี่ยงอย่างไร ดังนั้น วันนี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ผมจึงหยิบยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้บัตรเครดิตมาเล่าสู่กันฟังครับ
โดยปกติทั่วไปเว็บไซท์ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซท์ amazon.com เว็บไซท์ bn.com หรือเว็บไซท์ macys.com นั้น มักจะใช้ระบบรักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน เช่น ระบบ SSL หรือระบบ SET เพื่อป้องกันแฮคเกอร์ และคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า รวมถึงหมายเลขบัตรเครดิตของท่านด้วย โดยท่านผู้อ่านสามารถตรวจสอบมาตรการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวของแต่ละเว็บไซท์ได้จากข้อมูลในส่วนของ Privacy Policy (นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ของแต่ละเว็บไซท์ ดังนั้น การเจาะข้อมูลของแฮคเกอร์จะกระทำได้ค่อนข้างยากพอสมควร
ในส่วนมาตรการในทางกฎหมายนั้น แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะไม่มีกฎหมายเฉพาะที่คุ้มครองเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยตรง แต่หากท่านซื้อสินค้าหรือรับบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยใช้บัตรเครดิตนั้น ท่านจะได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมายคือ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการซื้อสินค้าหรือรับบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตอันเนื่องมาจากไม่ได้รับสินค้าหรือบริการ หรือได้รับสินค้าหรือบริการไม่ตรงเวลา หรือรับสินค้าหรือบริการแต่ไม่ครบถ้วน ชำรุดบกพร่อง หรือไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ หรือแฮคเกอร์หรือบุคคลภายนอกขโมยหมายเลขบัตรเครดิตท่านไปใช้โดยที่ท่านไม่ทราบถึงการกระทำดังกล่าว โดยหลักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2542) ท่านสามารถปฏิเสธการชำระเงินและ/หรือเรียกเงินคืนจากธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตได้ ขณะที่หากชำระโดยเงินสดนั้น เมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชีของเว็บไซท์ที่ขายสินค้าหรือบริการแล้ว การขอคืนค่าสินค้าเป็นเงินสดจะกระทำได้ค่อนข้างยุ่งยากกว่า เพราะผู้ขายและเว็บไซท์ที่ให้บริการตั้งอยู่ในต่างประเทศ และหากฟ้องร้องก็คงไม่คุ้มค่าใช้จ่ายและค่าทนายความครับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคนั้น รัฐบาลได้กำหนดให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งหมายความว่าข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้บัตรเครดิต ที่ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตกำหนดไว้ในบัตรเครดิตนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ในส่วนที่น่าสนใจสำหรับท่านผู้อ่านคือ กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้บัตรเครดิตที่ทำขึ้นหลังวันที่ 1 มกราคม 2543 (ภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ) หรือบัตรเครดิตที่ทำขึ้นก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2543 และมีระยะเวลาครบ 1 ปี ต้องมีข้อกำหนดในการให้บริการบัตรเครดิตแก่ผู้บริโภคดังนี้
ในกรณีที่ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีข้อตกลงว่าผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อสินค้าหรือบริการได้ โดยใช้บัตรเครดิตเพียงแค่แจ้งหมายเลขบัตรเครดิตด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการทำการเรียกเก็บเงิน ต้องมีข้อความดังต่อไปนี้
1. หากผู้บริโภคทักท้วงว่าไม่ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการ ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยทันที หรือหากเรียกเก็บไปแล้วก็ต้องคืนแก่ผู้บริโภค
2. ผู้บริโภคมีสิทธิขอยกเลิกการซื้อสินค้าหรือรับบริการภายใน 45 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคสั่งซื้อหรือขอรับบริการ หรือภายใน 30 วันนับแต่วันถึงกำหนด ส่งมอบสินค้าหรือบริการ หากผู้บริโภคพิสูจน์ได้ว่าตนเอง (1) ไม่ได้รับสินค้า (2) ไม่ได้รับบริการ (3) ได้รับสินค้าและบริการแต่ไม่ตรงตามกำหนดเวลา หรือได้รับสินค้าหรือบริการแต่ไม่ครบถ้วน หรือชำรุดบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตามความประสงค์ โดยธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องระงับการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคและหากธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตเรียกเก็บเงินไปแล้ว ถ้าเป็นการซื้อสินค้าหรือบริการโดยใช้บัตรเครดิตภายในประเทศ ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 30 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง แต่ถ้าเป็นการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ ธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตต้องคืนเงินให้กับผู้บริโภคภายใน 60 วันนับแต่วันที่ผู้บริโภคแจ้ง
จากหลักกฎหมายดังกล่าว หากท่านชอปปิ้งผ่านเว็บไซท์ต่างๆ โดยกรอกหมายเลขบัตรเครดิตเพื่อชำระราคาสินค้าและบริการ และภายหลังปรากฏว่าท่านไม่ได้รับสินค้าหรือบริการตามที่ตกลงหรือสินค้าชำรุดบกพร่องหรือมีบุคคลอื่นนำหมายเลขบัตรเครดิตของท่านไปใช้โดยมิชอบหรือแฮคเกอร์เข้ามาเจาะข้อมูลของเว็บไซท์ที่ท่านซื้อสินค้าหรือรับบริการ และนำบัตรเครดิตของท่านไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ท่านก็มีสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับนี้ที่จะปฏิเสธที่จะไม่ชำระเงินและ/หรือเรียกเงินคืนจากธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้ครับ
ปัญหาประการต่อมาคือ หากธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตไม่ระบุถึงข้อสัญญาดังกล่าวไว้ในสัญญาให้บริการบัตรเครดิตระหว่างท่านกับธนาคาร กรณีดังกล่าวผลในทางกฎหมายจะต่างกันหรือไม่ คำตอบคือ หากไม่ได้กำหนดไว้ในข้อสัญญา กฎหมายให้ถือว่าสัญญาให้บริการบัตรเครดิตของท่านและธนาคารมีข้อสัญญาดังกล่าวโดยปริยายและมีผลบังคับใช้ทันที (มาตรา 35 ตรี ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค) อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะคุ้มครองผู้บริโภคไว้ แต่ผมแนะนำว่าท่านควรระวังหมายเลขบัตรเครดิตของท่านให้ดีครับ เพราะหากเกิดข้อพิพาทแล้วการพิสูจน์ว่า ใช้บัตรเครดิตจริงหรือไม่นั้นต้องเสียเวลาและยุ่งยากพอสมควร
ดังนั้น ต่อไปหากท่านผู้อ่านทุกท่านต้องการชอปปิ้งเพื่อซื้อของขวัญให้แก่เพื่อนฝูงหรือญาติมิตรทางอินเตอร์เน็ตก็คงสบายใจได้ครับว่า แฮคเกอร์ไม่มีผลกระทบต่อการใช้บัตรเครดิตของท่านครับ--จบ--
-อน-