กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--บีโอไอ
บีโอไอเผยนักธุรกิจเกาหลีกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลสนใจลงทุนในไทย หลังศูนย์อาเซียน-เกาหลี หรือ AKC นำคณะร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ และรับฟังข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนตามแผนของรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่การเป็นศุนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน มั่นใจศักยภาพประเทศพร้อมรับอุตสาหกรรม แห่งอนาคต ด้านผู้บริหาร AKC ชูไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค มั่นใจสองฝ่ายก้าวสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยหลังร่วมงานสัมมนา "โอกาสและลู่ทางการลงทุนอุตสาหกรรมไอทีในประเทศไทย"จัดโดยสำนักงานบีโอไอประจำกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้ร่วมกับศูนย์อาเซียน-เกาหลี(The ASEAN-Korea Centre) หรือ AKC ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมบทบาทด้านเศรษฐกิจในอาเซียนของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ว่า คณะนักธุรกิจในอุตสาหกรรมไอทีและดิจิทัลจากประเทศเกาหลีใต้ แสดงความสนใจเข้ามาศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2559 โดยได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อให้ได้ทราบถึงโอกาสการลงทุนและนโยบายส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ มีนักธุรกิจไทยและเกาหลีเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 ราย
ทั้งนี้บีโอไอได้เน้นย้ำถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลของรัฐบาลที่มีความชัดเจน และความพยายามในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมนวัตกรรม และดิจิทัล เป็นสมาร์ทไทยแลนด์ หรือการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ขณะเดียวกันยังได้เร่งพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ทอัพ) ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน โดยในปี 2559 รัฐบาลจะมีการใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวกับดิจิทัลประมาณ 3,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ บีโอไอยังกำหนดให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบซูเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งตามแผนของรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกิดสมาร์ทซิตี้ หรือจังหวัดต้นแบบของการนำเทคโลยีมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำร่องใน 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ภายในปี 2559 และจังหวัดเชียงใหม่ภายในปี 2560
"ประเทศเกาหลีมีกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้นำและมีความเชี่ยวชาญด้านไอทีในระดับโลก ซึ่งจากแนวทางและนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ยืนยันได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุนจากเกาหลี และมีโอกาสเปิดกว้างให้กับธุรกิจดิจิทัลจากเกาหลี โดยเฉพาะในด้านซอฟต์แวร์ช่วยในการบริหารจัดการองค์กร ซอฟต์แวร์แอนิเมชั่น เกมส์ออนไลน์ แอพพลิเคชั่นสนับสนุนการประชุมทางไกล สื่อการสอนในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การนำอินเตอร์เน็ตเข้ามาเชื่อมอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ หรือ Internet of Things สำหรับสั่งงานในชีวิตประจำวัน เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ เป็นต้น โดยมั่นใจกิจกรรมในครั้งนี้และความร่วมมือที่เกิดขึ้นตามมาจะนำพาไทยและเกาหลีไปสู่ความสำเร็จร่วมกันต่อไป " นายโชคดีกล่าว
นายโชคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมจำนวน 183 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 18,900 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการซอฟต์แวร์ เช่น ซอฟต์แวร์สำหรับการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ ซอฟต์แวร์สำหรับบริการของธนาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับระบบโทรคมนาคม 4 G รวมถึงแอพพลิเคชั่นสำหรับการซื้อขายออนไลน์ โฆษณา การศึกษา และ แอนิเมชั่น เป็นต้น
ด้านนายคิม ยองซอน เลขาธิการศูนย์อาเซียน-โคเรีย กล่าวว่า ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันสูงแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน ทำให้โอกาสของประเทศไทยยังเปิดกว้างในอนาคต รวมถึงศักยภาพของภูมิประเทศที่มีทำเลที่ตั้งเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว มาเลเซีย จะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค
กิจกรรมในวันนี้ ทั้งการประชุมสัมมนา และการเจรจาธุรกิจรายบริษัท จะช่วยให้นักธุรกิจเกาหลี โดยเฉพาะในกลุ่มไอที ดิจิทัล ได้รับทราบถึงโอกาสและลู่ทางการลงทุนในไทย รวมทั้งเสริมสร้างโอกาสแก่นักธุรกิจเกาหลีที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย และก่อให้เกิดความร่วมมือและปูทางไปสู่การเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจร่วมกัน