สสวท.ชูธงการดำเนินงานยุคหลังปฏิรูปการศึกษา พร้อมรับมือหลักสูตรใหม่หลังประกาศใช้ปี 45

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 3, 2001 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ค.--สสวท.
ผู้อำนวยการ สสวท. ชูธงนโยบายการดำเนินงานของ สสวท.ยุคหลังปฏิรูปการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เน้นการวิจัยพัฒนาหลักสูตรและสื่อการสอน การกระจายอำนาจ การจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่น การพัฒนาครู การนำไอทีไปใช้ในการเรียนการสอน และการจัดการมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้จะต้องพร้อมรับมือหลักสูตรใหม่หลังประกาศใช้ปี 2545
จากการประชุมมอบนโยบายดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ของ ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการ สสวท. ที่เพิ่งจะมารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นทิศทางของ สสวท.ระยะเวลา 4 ปีภายใต้การบริหารของผู้นำคนใหม่ ในยุคหลังปฏิรูปการศึกษา เน้นนโยบายหลัก 5 เรื่อง ประกอบด้วย การวิจัยพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ท้องถิ่น การพัฒนาครู การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน และด้านมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
ในเรื่องของการวิจัยพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ดร.พิศาล สร้อยธุหร่ำ กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ กำหนดให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น บทบาทส่วนใหญ่จึงอยู่ที่สถานศึกษา แต่มีเสียงเรียกร้องชัดเจนว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีความพร้อมไม่เท่ากัน และยังต้องการสนับสนุน สสวท. จึงต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยที่สุดคือสร้างตัวอย่างกิจกรรม สื่อ อุปกรณ์การสอน ฯลฯ เป็นทางเลือกให้ครูนำไปใช้
การกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีไปสู่ท้องถิ่น ต่อไปสถาบันการศึกษาส่วนท้องถิ่นจะมีบทบาทมากขึ้น สาระของหลักสูตรที่จะนำไปใช้จึงมีทั้งสาระที่เป็นแกนกลางและสาระที่ใช้ในท้องถิ่น บทบาทของ สสวท.ก็คือ "ความร่วมมือกับท้องถิ่นในการพัฒนาสื่อและกิจกรรมการเรียนการสอน ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละภูมิภาคก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ สสวท."
ส่วนด้านการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น ดร.พิศาลกล่าวว่า การปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ ในหลักสูตรระดับประถมศึกษามีวิชา "วิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษา" เต็มตัว ซึ่งเมื่อก่อนถูกบรรจุเป็นแค่ส่วนหนึ่งในวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (สปช.) เท่านั้น แต่จากสถิติพบว่าครูวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาที่จบตรงวุฒิมีเพียง 7.7% จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาครูที่จบไม่ตรงวุฒิมากขึ้น เพื่อให้การสอนมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังเน้นด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการเรียนการสอน และการจัดมาตรฐานการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี
"ทั้งนี้การดำเนินงานของ สสวท.ทั้งหมดจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและมีกรอบที่ชัดเจนว่าถ้ากระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้หลักสูตรในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2545 ทุกอย่างจะต้องพร้อม" ดร.พิศาลกล่าว--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ