กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กรมประมง
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนของกรมประมงร่วมเดินทางไปกับคณะนายกรัฐมนตรี เพื่อเยือนนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย ในช่วงระหว่างวันที่ 17 - 21 พฤษภาคม 2559 ในโอกาสดังกล่าวนี้ กรมประมงได้ร่วมลงนามบันทึกว่าด้วยความร่วมมือด้านการควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากการเพาะเลี้ยงที่นำเข้าและส่งออก กับสำนักงานเฝ้าระวังสุขอนามัยพืชและสัตว์ (The Federal Service for Veterinary and Phytosanitary Surveillance ; FSVPS) แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โดยมีนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าวด้วย
สำหรับสาระสำคัญของบันทึกว่าด้วยความร่วมมือฯ ฉบับนี้ ได้มุ่งเน้นถึงการพัฒนาความร่วมมือในการควบคุมความปลอดภัยของสินค้าสัตว์น้ำทั้งที่จับจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยง และยอมรับในความเท่าเทียมกันของระบบตรวจรับรองของทั้งสองหน่วยงาน โดยมีการแลกเปลี่ยนรายชื่อ พร้อมตรวจสอบระบบควบคุม สถานแปรรูปสัตว์น้ำ เรือโรงงานที่ได้รับการรับรองสำหรับส่งออก มีการออกใบรับรองสุขอนามัยสำหรับสินค้าสัตว์น้ำที่ส่งออก มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐาน โดยฝ่ายประเทศผู้นำเข้าจะแจ้งให้ฝ่ายประเทศผู้ส่งออกรับทราบข้อมูลรวมทั้งสาเหตุการปฏิเสธสินค้า ซึ่งฝ่ายประเทศผู้ส่งออกจะต้องแจ้งมาตรการแก้ไขและป้องกันที่จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำอีก นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งข้อมูลของสินค้าที่จะนำเข้า แลกเปลี่ยน รวมถึงข้อกำหนด กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ทราบหากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วย
ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย ในปี 2558 มีปริมาณถึง 12,778.05 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,447.83 ล้านบาท โดยสินค้าประมงที่ส่งออกมากที่สุดคือ เนื้อปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง รองลงมา ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง ส่วนสถิติการนำเข้าสินค้าประมงจากสหพันธรัฐรัสเซีย ในปี 2558 มีปริมาณ 6,345.45 มูลค่า 1,164.14 ล้านบาท สำหรับสินค้าสำคัญที่นำเข้า คือ ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง(รวมตับและไข่)
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการควบคุมความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการตรวจสอบสินค้าประมงระหว่างทั้งสองหน่วยงานให้มีการประสานงานที่ชัดเจน รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเพิ่มโอกาสในการสร้างช่องทางทางการค้ากับสหพันธรัฐรัสเซีย และมีตลาดใหม่เพื่อการส่งออกที่มากขึ้นในอนาคต