กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--มทร.ธัญบุรี
ชุดเครื่องประดับที่ดีไซน์ร่วมสมัย สีสันสะดุดตา มีรายละเอียดและคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ ทั้งยังนำเอา 'เกล็ดปลา' มาเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ ผสมผสานกับทองเหลืองได้อย่างลงตัว เกิดเป็นผลงานศิลปะแฮนด์เมดที่แปลกใหม่และมีมูลค่า
ผลงานของ นางสาวสุทิสา มั่งสิน สาวมาดแกร่งจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)
สุทิสา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของไอเดียเกิดขึ้นจากความต้องการสร้างผลงานสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมด้านศิลปกรรมศาสตร์บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามสาขาที่ตนเรียน จึงมองหาสิ่งรอบๆ ตัว เห็นว่าเกล็ดปลาน่าสนใจและเหมาะกับการนำมาใช้เป็นวัสดุหลักในการออกแบบพัฒนาเครื่องประดับ เพราะเกล็ดปลาถือเป็นของเหลือทิ้งจากการนำเนื้อปลาไปบริโภค และในปัจจุบันเกล็ดปลาถูกนำมาใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อยมาก จากการศึกษาข้อมูลหลายแหล่ง พบว่า เกล็ดปลามีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัว มีความแวววาวน้ำหนักเบา ยืดหยุ่นดัดงอได้ และสามารถย้อมสีได้ จึงเลือกนำมาทำเครื่องประดับ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้หลงใหลในแฟชั่น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อลดจำนวนเกล็ดปลาที่ถูกทิ้งเป็นขยะ เพราะถ้าเก็บหรือทิ้งไว้ในสภาพสดจะส่งกลิ่นเหม็นเน่า ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการพึ่งพาวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อนำมาประกอบตกแต่งเครื่องประดับ
เครื่องประดับจากเกล็ดปลา ประกอบด้วย สร้อยคอ กำไลและแหวน เหมาะกับการใส่ออกงานต่าง ๆ ตามความต้องการ เจาะกลุ่มลูกค้าผู้หญิงวัยทำงาน รูปทรงของเครื่องประดับเน้นรูปทรงธรรมชาติ จากลักษณะของใบไม้ เนื่องจากเป็นที่นิยมและมีความเป็นไปได้ในการผลิต เน้นลวดลายเรขาคณิต สีของเครื่องประดับเป็นสีโทนสว่าง เช่น สีแดง สีฟ้า สีม่วง ตัวเรือนของเครื่องประดับทำจากทองเหลืองเพราะขึ้นรูปง่าย ราคาที่เหมาะสมและเป็นที่นิยม พื้นผิวของตัวเรือนมีลักษณะผิวเรียบ มันวาว มีการตกแต่งด้วยเกล็ดปลาและใช้เทคนิคประกอบเกล็ดปลาเข้ากับตัวเรือนด้วยการฝังแบบแฟนซี (Fancy Setting) และใช้สีบาติกในการย้อมเพราะเน้นความติดทนนาน สีไม่ตกและให้ความสดสำหรับการย้อมเกล็ดปลา
การออกแบบครั้งนี้ มีอาจารย์ศรศิลป์ โสภณสกุลวงศ์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ประกอบการด้านเครื่องประดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและการผลิตเครื่องประดับ รวมถึงกลุ่มผู้ใช้งานเครื่องประดับ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์หลายด้าน เช่น ด้านการใช้งาน ความสวยงาม วัสดุและกรรมวิธี และด้านความปลอดภัย จนสำเร็จเป็นผลงานสู่นิทรรศการแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์ ครั้งที่ 25 "ศิลป์-ปะ-กัน" ที่ผ่านมา ซึ่งได้การตอบรับที่ดีมากจากผู้เข้าร่วมชมงาน
เมื่อถามถึงการก้าวเข้าสู่ตลาดอาชีพโปรดักดีไซน์เนอร์ สุทิสา มองว่า "พื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบ แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวและไอเดียที่สดใหม่ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างผลงาน ในประเทศไทยมีโปรดักดีไซน์เนอร์ที่เก่ง ๆ หลายคน ที่เขาประสบความสำเร็จและผลงานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้และใช้เป็นแนวทางการต่อยอดเพื่อสร้างผลงานใหม่ ๆ ส่วนตัวยังต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองต่อไปในเส้นทางนี้ เพื่อความสำเร็จและได้รับการยอมรับที่มากขึ้น"
ผู้สนใจสามารถแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับโปรดักดีไซน์เนอร์ หรือติดต่อเชิงธุรกิจได้ที่eplapla@hotmail.com หรือ โทร. 082 797 0612