กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะข้อควรปฏิบัติในการโดยสารเรือ และการแก้ไขเหตุฉุกเฉินทางน้ำอย่างถูกวิธี โดยติดตามพยากรณ์อากาศ หลีกเลี่ยงการโดยสารเรือตามลำพัง ยืนรอเรือบนฝั่งหรือท่าเทียบเรือที่ปลอดภัย และรอเรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อยแล้วจึงเดินขึ้น - ลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่ใช้บริการเรือที่มีผู้โดยสารจำนวนมากหรือบรรทุกเกินน้ำหนัก ขณะโดยสารเรือควรกระจายการนั่งให้เกิดความสมดุล และสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่โดยสารเรือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินเรือล่ม หรือพลัดตกจากเรือ จะได้พยุงตัวลอยน้ำ รอการช่วยเหลือ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ระยะนี้เกิดอุบัติภัยทางน้ำบ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความประมาท สภาพเรือไม่ปลอดภัย และสภาพอากาศแปรปรวน เพื่อความปลอดภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการโดยสารเรือและการแก้ไขเหตุฉุกเฉินทางน้ำอย่างถูกวิธีดังนี้ ก่อนเดินทาง ควรติดตามพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนพายุหรือคลื่นลมแรง ควรงดหรือเลื่อนการเดินทาง หลีกเลี่ยงการโดยสารเรือตามลำพัง ควรหาเพื่อนที่ว่ายน้ำเป็นร่วมทางไปด้วย หากจำเป็นต้องเดินทางคนเดียว ให้แจ้งนายเรือและผู้ควบคุมเรือทราบ จะได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่งกายให้เหมาะสมกับการโดยสารเรือ สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อุ้มน้ำและถอดง่าย ไม่สวมรองเท้าหุ้มส้นหรือชนิดผูกเชือก หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างปลอดภัย ขณะเดินทาง ให้ยืนรอบนฝั่งหรือท่าเทียบเรือที่ปลอดภัย ไม่ยืนรอบนโป๊ะที่มีคนจำนวนมาก เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโป๊ะพลิกคว่ำ รวมถึงไม่หยอกล้อเล่นกันระหว่างรอเรือ เพราะอาจพลัดตกน้ำ ได้การขึ้น – ลงเรือ ควรรอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อยแล้ว จึงเดินขึ้น - ลงเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่ลุกขึ้นยืนพร้อมกัน เพราะเรือจะรับน้ำหนัก ข้างเดียวมากเกินไป ส่งผลให้เรือล่มได้ หากเรือมีคนจำนวนมาก ควรใช้บริการเรือลำอื่น การโดยสารเรือ ควรกระจายการนั่งให้เกิดความสมดุล ไม่ยืนบริเวณท้ายเรือ ไม่นั่งบริเวณกราบเรือหรือหลังคาเรือ ไม่นั่งรวมกลุ่มบริเวณข้างใดข้างหนึ่งของเรือ รวมถึงสวมเสื้อชูชีพตลอดเวลาที่โดยสารเรือ การแก้ไขเหตุฉุกเฉินขณะโดยสารเรือ กรณีเรือเอียงหรือโคลง ให้ยึดจับพนักที่นั่งให้มั่น พร้อมขืนอาการเอียงของเรือไม่ให้น้ำหนักไปรวมอยู่ทางกราบเรือด้านที่เอียง เพราะจะทำให้เรือล่มได้ หากพลัดตกน้ำหรือเรือล่ม ให้รีบว่ายน้ำออกห่างจากเรือ ไม่เกาะกราบเรือที่กำลังแล่น ป้องกันกระแสน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและได้รับอันตรายจากใบพัดเรือ ถอดสิ่งของที่ถ่วงน้ำหนักออก อาทิ รองเท้า เข็มขัด พร้อมใช้ขาทั้งสองข้างตีน้ำ และหาที่ยึดเกาะซึ่งลอยน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์ แกลลอนน้ำ เป็นต้น ไว้พยุงตัวรอการช่วยเหลือ ลอยตัวไปตามกระแสน้ำ เพื่อรอการช่วยเหลือ ไม่ว่ายน้ำเข้าฝั่งด้วยตนเอง เพราะเสี่ยงต่อการเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้ กรณีโดยสารเรือและพบผู้โดยสารพลัดตกน้ำ ให้ตะโกนบอกนายท้ายเรือ พร้อมบอกตำแหน่งที่คนพลัดตกน้ำ จะได้ควบคุมเรือไปในทิศทางอื่น ป้องกันอันตรายจากใบพัดเรือ โยนอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่อยู่ใกล้ตัว อาทิ ไม้กระดาน เบาะ ถังน้ำมัน ห่วงชูชีพ เสื้อชูชีพ ให้คนตกน้ำใช้ยึดเกาะพยุงตัวรอการช่วยเหลือ การช่วยเหลือคนพลัดตกน้ำ ตะโกนให้ผู้ที่ว่ายน้ำเป็นและแข็งแรงลงไปช่วยเหลือคนตกน้ำ หากไม่มีทักษะไม่ควรลงไปช่วยเหลือคนตกน้ำด้วยตนเอง เพราะทำให้จมน้ำเสียชีวิต โยนอุปกรณ์ชูชีพหรือสิ่งของที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น ห่วงชูชีพ ถังพลาสติก แกลลอนปิดฝา เป็นต้น ให้ผู้ตกน้ำยึดเกาะพยุงตัวรอการช่วยเหลือ หรือใช้เชือกผูกและดึงตัวคนตกน้ำกลับเข้าฝั่ง ยื่นวัสดุใกล้ตัวให้ผู้ตกน้ำยึดเกาะ เช่น เข็มขัด กิ่งไม้ เป็นต้น โดยผู้ช่วยเหลือควรใช้มืออีกข้างยึดเหนี่ยวกับฝั่งไว้ให้มั่นคง เพื่อป้องกันการพลัดตกน้ำ ทั้งนี้ การช่วยเหลือคนตกน้ำ ต้องให้คนตกน้ำอยู่ในลักษณะหงายหน้าขึ้นแล้วดึงคอเสื้อพยุงคนตกน้ำ หากไม่มีที่ดึง ให้กอดหน้าอกคนตกน้ำแล้วพยุงตัวคนตกน้ำ ห้ามช่วยเหลือคนตกน้ำ โดยให้คนตกน้ำกอดคอ และเกาะหลังผู้ช่วยเหลือ เพราะอาจถูกกอดรัด ทำให้จมน้ำเสียชีวิตทั้งสองคน
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th