กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 34 จังหวัด พร้อมประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนประสานการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้งการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ การเป่าล้างบ่อบาดาล การประสานปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่อง การนำรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดไปเติมยังภาชนะกลางประจำหมู่บ้าน และการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลส่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงวางแผนการจัดสรรน้ำ การกระจายน้ำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ระยะนี้หลายพื้นที่มีฝนตกกระจายและฝนตกหนักบางแห่ง ทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง โดยมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ลดลง ปัจจุบัน (ณ วันที่ 9 มิถุนายน 2559) มีจังหวัดประสบภัยแล้ง 34 จังหวัด 229 อำเภอ 1,233 ตำบล 10,101 หมู่บ้าน แยกเป็น จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค 10 จังหวัด ได้แก่ น่าน พิจิตร ลำพูน ตาก สุรินทร์ ชัยนาท สระบุรี ชลบุรี ตรัง และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย มหาสารคาม กาญจนบุรี จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี จังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร 17 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ นครราชสีมา ตราด สตูล กระบี่ นครศรีธรรมราช หนองบัวลำภู สุพรรณบุรี สระแก้ว ขอนแก่นปราจีนบุรี ลำปาง อุทัยธานี กำแพงเพชร ราชบุรี และแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ฝนตกในพื้นที่ใต้เขื่อน จึงไม่มีน้ำไหลลงเขื่อน เพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอย่างรัดกุมและสอดคล้องกับปริมาณฝน เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในทุกกิจกรรม รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานจังหวัดและหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมการรองรับกรณีฝนไม่ตกตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยให้ประสานการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งการขุดลอกคูคลอง หนอง บึง เพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ และสำรองน้ำไว้ใช้ การเป่าล้างบ่อบาดาล การประสานปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนอย่างต่อเนื่อง การนำรถบรรทุกน้ำนำน้ำสะอาดไปเติมยังภาชนะกลางประจำหมู่บ้าน และการสนับสนุนเครื่องสูบน้ำระยะไกลส่งน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงวางแผนการจัดสรรน้ำ การกระจายน้ำให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยคำนึงถึงการให้ช่วยเหลือด้านน้ำอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเกษตรเป็นลำดับรองลงมา ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th