กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๖ มิ.ย. ๕๙) เวลา ๐๙.๐๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) และ นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ร่วมงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๙ ภายใต้แนวคิดหลัก : "ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์" โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมงานจำนวน ๖๕๐ คน ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด บ้านพักเด็กและครอบครัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ จาก ๗๖ จังหวัด หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศ ประจำประเทศไทย ผู้ปฏิบัติงานดีเด่น และสื่อมวลชน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๑ ประกาศให้ทุกวันที่ ๕ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงภัยของการค้ามนุษย์ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังเหตุ สามารถป้องกันตนเองได้ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) เป็นหน่วยประสานงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งในปี ๒๕๕๙ นี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดงานวันต่อต้านการค้ามนุษย์ประจำปี ๒๕๕๙ ภายใต้แนวคิดหลัก : "ประชารัฐ ร่วมใจ ต้านภัยการค้ามนุษย์" เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และผนึกกำลังจากภาคประชาชน ชุมชน ประชาสังคม สร้างจิตสำนึกร่วมกันในการต่อต้านการค้ามนุษย์
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดงานในปีนี้ประกอบด้วย พิธีมอบรางวัลด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้แก่ ๑) ผู้ปฏิบัติงานดีเด่น เป็นรางวัลเกียรติยศสำหรับคนทำงานด้านดังกล่าว รวม ๑๒ รางวัล ใน ๔ ด้านคือ ด้านการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ได้แก่ ๑. พลตำรวจโท ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ๒. หม่อมหลวง ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ๓. พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ เสนาธิการทหารเรือ และเสนาธิการศปมผ. และ ๔. นายศักดิ์ชัย แดงฮ่อ ผู้อำนวยการสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ด้านการป้องกันได้แก่ ๑. พลเรือเอก บงสุช สิงห์ณรงค์ หัวหน้าคณะทำงานภาคประมง ศปมผ. ๒. นายมานะ สิมมา ผู้อำนวยการส่วนการสอบสวนคดีอาญา กรมการปกครอง และ ๓. นายสุเมธ บัวบูชา นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงาน พมจ.พังงา
นายไมตรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับด้านการดำเนินคดี ได้แก่ ๑. พลตำรวจตรี ทรงธรรม อัลภาชน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ๕ ๒. พันตำรวจเอก คำรณ ยอดรักษ์ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค ๙ และ๓. พันตำรวจเอก อาคม สายสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค จังหวัดระนอง ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ ๑. นางนัฏญา จิตรเกาะ ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองฯ (บ้านนารีสวัสดิ์) จังหวัดนครราชสีมา กระทรวง พม. และ๒. นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ผู้อำนวยการฝ่ายสืบสวน องค์กรเอ็นเวเดอร์ และ ๒) สื่อมวลชน ๓ รางวัล จากสื่อประเภทโทรทัศน์ และวิทยุ ได้แก่ รางวัลชนะเลิศประเภทสื่อวิทยุ ๑ รางวัล คือ เรื่อง "คุณ...รู้สึกอย่างไร?" โดยองค์การสื่อมวลชนเสียงสันติ และรางวัลผลงานดีประเภทสื่อโทรทัศน์ ๒ รางวัล คือ เรื่อง "เปิดโปง กลุ่มขอทานพัทยา" โดยนางสาวพรทิพย์โม่งใหญ่ และ เรื่อง "กวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์หญิงสัญชาติลาว จังหวัดชุมพร" โดยนายสถาพร ด่านขุนทด
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์หรือ "MOU ฉบับประชารัฐ" ระหว่างผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชนและองค์การระหว่างประเทศ รวม ๖๐ หน่วยงาน ซึ่งมีสาระสำคัญ ๑๒ ข้อ ได้แก่
๑) วัตถุประสงค์ของความตกลง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในทุกมิติ ทั้งด้านการป้องกัน ปราบปราม การดำเนินคดี และคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหาย
๒) หลักการพื้นฐานของความร่วมมือ จะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบุคคลที่เป็นผู้เสียหาย
๓) นิยามการค้ามนุษย์และบุคคลที่เป็นผู้เสียหาย ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายค้ามนุษย์
๔) สิทธิของผู้เสียหาย ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติบนพื้นฐานของการเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงสิทธิ
ตามกฎหมายไม่ถูกบังคับให้ต้องให้ความร่วมมือ ข้อมูลจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
๕) บทบาททั่วไปของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประสานข้อมูลและสนับสนุนการดำเนินการระหว่างกัน รณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้
๖) บทบาทหน้าที่เฉพาะของหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้การคุ้มครองช่วยเหลือตามกฎหมาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี
นายไมตรี กล่าวเพิ่มเติม
๗) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี โดยเพิ่มความพยายาม ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน คุ้มครองป้องกันภัยแก่ผู้เสียหาย บุตรหรือครอบครัว
๘) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐในการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ เป็นการกำหนดบทบาทของพนักงานสอบสวน การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนสนับสนุนการดำเนินคดีทั้งเรื่องสนธิกำลัง บุคลากร สถานที่ ยานพาหนะ
๙) การพัฒนาศักยภาพและการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน เพิ่มความรู้เฉพาะทางและความร่วมมือระหว่างสหวิชาชีพ ส่งเสริมการตระหนักรู้ ปลูกสร้างอุดมการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน
๑๐) การดำเนินงานตาม MOU และการประสานงานระหว่างหน่วยงานออกปรับปรุง แก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ หรือคำสั่งภายในตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงาน
๑๑) การวินิจฉัยและการหาแนวทางเพื่อขจัดปัญหาในการดำเนินงานตามข้อตกลง หาก MOU ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดไว้ หรือมีปัญหาที่ต้องพิจารณาหรือตีความ ให้เสนอหัวหน้าหน่วยงาน เพื่อประสานการดำเนินงานร่วมกัน
และ ๑๒) การมีผลใช้บังคับและเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลตั้งแต่วันลงนาม หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขให้มีการหารือ และร่วมทำการแก้ไขโดยทำเป็นหนังสือและลงลายมือทุกฝ่าย
"การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงออกของประเทศไทยที่จะรวมพลังประชารัฐ ร่วมมือ มุ่งมั่นในการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยคำนึงถึงคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมจะบูรณาการกับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น"นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย