กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๘ มิ.ย. ๕๙) เวลา ๑๔.๐๐ น. พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) กล่าวมอบนโยบาย และมอบประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ "ผู้นำโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ" พร้อมทั้งรับฟังการนำเสนอผลการเสวนาและการถอดบทเรียนการดำเนินงาน "การพัฒนาศักยภาพผู้นำโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ" ในงานสัมมนาเรื่อง "การพัฒนาศักยภาพผู้นำโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ – ๘ มิ.ย. ๒๕๕๙ ณ โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นการจัดการศึกษา ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องการให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เกิดจากแนวคิดที่ตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญ และพลังของผู้สูงอายุ โดยการสร้างพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย การเกิดขึ้นของโรงเรียนผู้สูงอายุยังสอดคล้องกับแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๔๕ – ๒๕๖๔) ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๕๒) และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ แผนระดับชาติหลายฉบับ ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตการพัฒนาศักยภาพของบุคคลอย่างต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) จึงจัดการสัมมนา "การพัฒนาศักยภาพผู้นำโรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบ" ในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานผู้นำโรงเรียน ส่งเสริมการนำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุไปสู่การปฏิบัติ และถอดบทเรียนการดำเนินงานพื้นที่โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบสู่พื้นที่ขยายผล โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวนทั้งสิ้น ๑๘๐ คนประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนผู้สูงอายุ จำนวน ๔๓ พื้นที่ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน ๔๓ พื้นที่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ๒๓ จังหวัด ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ๑๒ แห่ง ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมด้านผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา สำหรับการการสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยาย เรื่อง "หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุและแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุ" การเสวนาเรื่อง "การบริหารจัดการโรงเรียนผู้สูงอายุ"
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้ผู้สูงอายุมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาทักษะชีวิต มีกิจกรรมร่วมกับสังคมและชุมชน ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ มีโอกาสแสดงศักยภาพ ภูมิความรู้และประสบการณ์ จึงได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งเสริมศักยภาพผู้นำโรงเรียนผู้สูงอายุ ๔๓ แห่ง และกำหนดแผนขยายผลจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ๘๗๘ อำเภอๆ ละ ๑ ตำบล ทั่วประเทศในปีพ.ศ. ๒๕๖๒ โดยได้กำหนดนโยบายเพื่อนำสู่ความสำเร็จของโรงเรียนผู้สูงอายุ ดังนี้ ๑) ต้องมีแนวคิดชัดเจนและปฏิบัติได้ โดยมีผู้สูงอายุเป็นแกนนำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลัก สำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนเป็นหน่วยสนับสนุน ๒) กำหนดโครงสร้างการบริหารงาน คือทีมนำ ทีมทำ ทีมร่วมทำงาน ให้ครอบคลุมมิติความมั่นคงในชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตและวัฒนธรรมประเพณี และ ๓) ต้องปรับปรุงวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยมีต้นแบบโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นจุดเรียนรู้สำหรับต่อยอดและขยายผล
การสัมมนาครั้งนี้ ตรงตามทฤษฎีที่ว่า "การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นที่ผู้นำ" ขอให้ทุกคนที่เข้าร่วมสัมมนาได้นำนโยบายและผลการสัมมนา ไปดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุ ด้วยการบูรณาการทั้งในส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมผู้สูงอายุ ผู้นำชุมชน รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้หลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุเป็นทิศทางและเป็นต้นแบบสำหรับโรงเรียนผู้สูงอายุ สามารถนำไปขยายผลสู่การปฏิบัติและถอดบทเรียน การดำเนินงานของพื้นที่โรงเรียนผู้สูงอายุต้นแบบให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้สูงอายุในอนาคตต่อไป