กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กรมสุขภาพจิต
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรณีเหตุไฟไหม้หอพักโรงเรียน ที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจหรือทีม MCATT ประสานร่วมกับทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจในพื้นที่เพื่อประเมินและดูแลเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและญาติ หากพบภาวะเครียดสูง หรือซึมเศร้า เพื่อนำเข้าสู่การดูแลช่วยเหลือ ให้คำปรึกษาและกำลังใจ ช่วยลดภาวะเครียด ทั้งนี้ ในภาวะที่เกิดการเผชิญเหตุคุกคามชีวิต บางคนอาจจะมีอาการนอนไม่หลับอย่างรุนแรง ท้อแท้ หรือเครียดมาก ๆ ถึงขั้นกระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อาจจะต้องให้การบำบัดผ่านการปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้น และให้ยาในรายที่อาการกระทบกระเทือน โดยจะมีการติดตามอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องทุกรายจนกว่าจะมั่นใจว่าไม่มีปัญหาสุขภาพจิต เฝ้าระวังการเกิดโรคเครียดภายหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนขวัญหรือ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ซึ่งอาจเกิดตามมาภายหลัง 1 เดือนหลังเผชิญเหตุ
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สะเทือนจิตใจ อาการร้องไห้ฟูมฟาย เศร้าโศกเสียใจ ที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติและไม่ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าได้ อาการที่อาจพบ เช่น โทษหรือตำหนิตัวเองอย่างมาก มีความรู้สึกผิดเกินจริง เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง โทษหรือตำหนิตัวเองว่าเป็นสาเหตุให้บุคคล นั้นเสียชีวิต หรือกระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก และมีความผิดปกติทางจิต เช่น มีอาการประสาทหลอน ได้ยินคนที่เสียชีวิตไปแล้วมาพูดคุยด้วยอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งมีอาการหลงผิด เช่น หลงผิดว่าตัวเอง ทำบาปกรรมในอดีต จึงถูกลงโทษ เป็นต้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต1323 ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ด้าน นายแพทย์บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่าญาติ และครอบครัว ถือเป็นบุคคลที่จะช่วยสังเกต ดูแล เยียวยา และประคับประคองจิตใจผู้ที่ต้องประสบกับความสูญเสียให้ผ่านพ้นความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ โดยการรับฟัง ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจ และไม่ตอกย้ำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้ความร่วมมือในการดูแลรักษา เช่นเดียวกับ สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมในการเยียวยาจิตใจครอบครัวที่ต้องประสบกับความสูญเสียได้ โดยหลีกเลี่ยงการสัมภาษณ์หรือสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะกระตุ้นให้คิดถึงภาพเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ ทำให้เกิดความเครียดซ้ำเติม วิธีที่ดีที่สุดคือ การพูดการแสดงออกที่ให้กำลังใจ เพื่อให้ปรับตัวและก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤต กลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ ตลอดจน เลือกใช้คำถามในการสัมภาษณ์ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึก มากกว่า การใช้คำถามแบบปลายปิดหรือตอกย้ำความสูญเสีย เช่น รู้สึกอย่างไรที่ต้องสูญเสียลูก เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกให้แย่ลงไปอีก