กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๑๐ มิ.ย. ๕๙) เวลา ๑๖.๐๐ น. นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓-๖ มิถุนายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ณ โรงแรมหลวงพระบางวิว เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมี ดร.ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ ๘๐ คน ประกอบด้วย คณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมจากประเทศสมาชิกอาเซียน เลขาธิการอาเซียน รองเลขาธิการอาเซียนสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า การประชุมคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ครั้งที่ ๑๕ เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะมนตรีนับแต่การเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยการประชุมดังกล่าว ในถ้อยแถลงที่มีต่อที่ประชุม รมว.พม. ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อ ศ.ดร.บ่อแสงคำ วงดาลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ในการดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๙ซึ่งถือเป็นการเปิดศักราชในเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอย่างสมบูรณ์ อีกทั้ง ยังได้กล่าวสนับสนุนเอกสารผลลัพธ์สำคัญที่จะมีการเสนอให้ผู้นำอาเซียนรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๘ ที่จะถึงนี้จำนวน ๓ ฉบับ ได้แก่ "ปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากการจ้างงานนอกระบบไปสู่การจ้างงานในระบบ เพื่อมุ่งสู่การส่งเสริมงานที่มีคุณค่าในอาเซียน" ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ "ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการตอบโต้ภัยพิบัติอาเซียนอย่างเป็นหนึ่งเดียว การตอบสนองของอาเซียนต่อภัยพิบัติเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคและภายนอกภูมิภาค" นับเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกได้ประจักษ์ถึง "ความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน" ในการแสดงความเป็นหุ้นส่วนต่อการรับมือกับเหตุภัยพิบัติ และ"ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนตกหล่น" เพื่อส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอาเซียนที่ด้อยโอกาส
นายไมตรี กล่าวต่อเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับขอบเขตการดำเนินงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของแต่ละประเทศสมาชิกไปปฏิบัติงาน ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ซึ่ง รมว.พม. ระบุว่า "ไทยเห็นความสำคัญและไม่มีข้อขัดข้องในสาระหลักของเอกสารขอบเขตการดำเนินงานดังกล่าวและจะได้เริ่มต้นกระบวนการภายในประเทศต่อไป" สำหรับการสร้างความเข้มแข็งในการบูรณาการดำเนินงานอาเซียนของเสาสังคมและวัฒนธรรมภายในประเทศนั้น ประเทศไทยจะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอาเซียนด้านสังคม ซึ่งจะเป็นกลไกในการบริหารเชิงนโยบายที่มุ่งเน้นการประสานงานและบูรณการทั้งด้าน "คน ข้อมูล องค์กร และการปฏิบัติงาน" โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation: IO) และมีระบบการนำเสนอและรายงานผลการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรี อย่างต่อเนื่องและทันเหตุการณ์