กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
· นักวิจัยธรรมศาสตร์ สร้างนวัตกรรม "เครื่องตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋า Hermès" คว้ารางวัลเหรียญทองแดง งานประกวดนวัตกรรมนานาชาติกรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ โชว์ "แอปพลิเคชัน Bagtector"เครื่องมือตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนมแอร์เมส (Hermès) โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก(Deep Neural Network) ในการตรวจจับรูปแบบและริ้วรอยบนโลโก้ของกระเป๋า รวมถึงวัสดุที่ใช้ด้วยวิธีง่ายๆ ใน 2 ขั้นตอน เพียงใช้แอปพลิเคชัน"ถ่ายภาพโลโก้กระเป๋าต้องการตรวจ" แล้ว "กดประมวลผล" จากนั้นภาพจะถูกส่งไปประมวลผลยังเครื่องแม่ข่ายโดยใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาที และส่งผลกลับมาแสดงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ด้านซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ในงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44เมื่อเดือนเมษายนที่ ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า กระเป๋าแอร์เมส (Hermès) เป็นกระเป๋าแบรนด์เนมที่ได้รับความนิยมและมีความต้องการในตลาดสูงมาก แม้จะมีราคาแพง กล่าวคือ มีราคาตั้งแต่ใบละหลายแสนบาทจนถึงใบละหลายล้านบาทแต่ก็มีข้อมูลวิจัยกล่าวว่า การลงทุนในกระเป๋าแอร์เมสถือว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนมากกว่าการลงทุนในทองคำหรือในหุ้นอย่างไรก็ตามผู้ที่มีกำลังซื้อกระเป๋าจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการซื้อจากช็อปแอร์เมสได้โดยตรงเนื่องจากต้องมีเครดิตมากเพียงพอ จึงเกิดธุรกิจหิ้วกระเป๋าและธุรกิจกระเป๋ามือสองเกิดขึ้นมากมาย ยิ่งไปกว่านั้น กระเป๋าแอร์เมสยังถูกหยิบฉวยไปปลอมแปลงในหลายระดับคุณภาพตั้งแต่ประเก๋าปลอมที่สามารถมองเห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่าจนถึงระดับแนบเนียนมากจนอาจแยกไม่ออกด้วยตาเปล่า
คณะผู้วิจัย เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่ต้องการครอบครองกระเป๋าแอร์เมสและอาจไม่สามารถซื้อจากช็อปได้โดยตรง จึงได้ทำการคิดค้นและพัฒนา "แอปพลิเคชั่น Bagtector" เครื่องมือตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแอร์เมส ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กล่าวคือ โครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก (Deep Neural Network) ซึ่งเป็นแบบจำลองการทำงานของเซลล์สมองสามารถจดจำ เรียนรู้ แยกแยะสิ่งต่าง ๆ โดยนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างถูกต้องแม่นยำมาใช้ในการตรวจความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าได้อย่างง่ายดายพร้อมแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
สำหรับขั้นตอนการใช้งานแอปพลิเคชัน สามารถทำได้โดยง่ายใน 2 ขั้นตอนเพียง"ถ่ายภาพไปที่โลโก้กระเป๋าต้องสงสัย"แล้ว "กดประมวลผล" ในแอปพลิเคชัน จากนั้นภาพจะถูกส่งเข้าสู่ระบบประมวลผลยังฐานข้อมูลที่สหราชอาณาจักร เพื่อทำการตรวจจับความแตกต่างของรายละเอียดโลโก้ แรงบีบอัดและริ้วรอยของโลโก้บนกระเป๋า รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาไม่เกิน 30 วินาทีเพียงเท่านี้ ระบบก็จะแสดงผลผ่านแอปพลิเคชันว่ากระเป๋าต้องสงสัยเป็นของแท้หรือไม่แท้ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการทดสอบความเสถียรของการตรวจความแท้-ไม่แท้ของกระเป๋าแอร์เมส ทางทีมวิจัยได้ทำการประสานไปยังเหล่าเซเลปคนดังที่มีแอร์เมสของจริง ทั้งในรุ่นเคลลี่ (Kelly) และเบอร์กิน (Birkin) ที่มีใบเสร็จฯ ยืนยัน รวมกว่า 200 ใบ นอกจากนี้ ยังหาตัวอย่างกระเป๋าปลอมจากร้านขายกระเป๋าตามแหล่งต่างๆ โดยรวบรวมกระเป๋าที่มีคุณภาพตั้งแต่ระดับเอ (A) 2เอ (AA) 3เอ (AAA) ไปจนถึงระดับมิลเลอร์ (Mirror) ที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับกระเป๋าแบรนด์เนมของแท้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในอนาคต ทีมนักวิจัยคาดจะมีการขยายผลให้สามารถตรวจกระเป๋าพราด้า (Prada) หลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) รวมไปถึงนาฬิกาแบรนด์เนมดังๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบและใช้แบรนด์เนม อย่างไรก็ดี เครื่องมือตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนมแอร์เมส โดยอาศัยโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก ถือเป็นตรวจสอบความแท้และไม่แท้ของกระเป๋าแบรนด์เนมแอร์เมสเครื่องแรกของโลกที่พัฒนาขึ้น และสามารถใช้ได้จริงในการตรวจสอบโดยผลงานดังกล่าวได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ด้านซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส รศ.ดร.จาตุรงค์ กล่าว
"มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งมั่นสู่การเป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสังคมไทย ปลูกฝังจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ต่อบุคลากรและนักศึกษา ด้วยการยึดมั่นในความเป็นธรรม การมีจิตสาธารณะ และการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21"
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หมายเลขโทรศัพท์02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th