ประเทศไทยประกาศจุดยืนทางการท่องเที่ยวในที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค

ข่าวท่องเที่ยว Monday July 24, 2000 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ค.--ททท.
(ที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี วันที่ 6 กรกฎาคม 2543) ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวของประเทศกลุ่มเอเปค ในการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวกลุ่มเอเปค ซึ่งได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงโซล ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม ศกนี้ ถึงจุดยืนและแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยว่า ในกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบันด้านการเปิดเสรีทางการค้า เทคโนโลยีด้านการคมนาคมสื่อสารและสารสนเทศ การท่องเที่ยวได้พิสูจน์ว่าเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งซึ่งได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในประเทศไทย ทั้งในด้านการกระจายรายได้ ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศไปยังท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เกิดการสร้างงานและอาชีพให้แก่ประชาชน และยังเป็นภาคธุรกิจที่มีส่วนสำคัญในการค้ำจุนระบบการเงินการคลังของประเทศในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในระยะที่ผ่านมาด้วย
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวกลุ่มเอเปคว่า ประเทศไทยมีนโยบายที่จะให้มีการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปในท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนในชนบทได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การฝึกอบรมและการพัฒนาอาชีพที่เกี่ยวข้องให้กับประชาชน และการพัฒนาประสิทธิภาพของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมและถาวร
ดร.อดิศัย ได้กล่าวในที่ประชุมว่าปัจจุบันรัฐบาลของหลายประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จึงเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีท่องเที่ยวต้องผลักดันให้มีการยอมรับในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่สำคัญ และเรียกร้องให้กลุ่มประเทศเอเปคร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในกลุ่ม โดยการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารการจัดทำบัญชีรายได้ประชาชาติด้านการท่องเที่ยว (Tourism Satellite Account) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนจะใช้เป็นดัชนีระดับความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อเป็นการยกระดับของภาคการท่องเที่ยวของประเทศกลุ่มเอเปคและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆของโลกอีกด้วย
ดร.อดิศัย ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ประเทศไทยมีนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน โดยการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของสังคม ซึ่งในการดำเนินการของประเทศไทยได้คำนึงถึงผลกระทบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะมีต่อสังคมในชนบทและผลประโยชน์ที่ท้องถิ่นควรจะได้รับอย่างยุติธรรม ทั้งนี้กุญแจสำคัญคือการสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับธุรกิจภาคเอกชนในการร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวไปในแนวทางที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับกระแสการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวนานาชาติในปัจจุบัน
นอกจากนี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้เรียกร้องให้องค์กรและสมาคมการท่องเที่ยวภาคเอกชนให้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลของประเทศกลุ่มเอเปคเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของภูมิภาค ซึ่งจะมีการอัตราการเติบโตของการท่องเที่ยวทั่วโลกไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มประเทศเอเปคจะได้ร่วมมือกันในการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศในกลุ่มและส่งเสริมให้มีการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกัน อันจะเป็นโอกาสที่สำคัญในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันอีกด้วย
อนึ่ง การประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวกลุ่มเอเปคครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยมีรัฐมนตรีท่องเที่ยวจากประเทศสมาชิกรวม 21 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งถือเป็นความคืบหน้าครั้งสำคัญของกลุ่มเอเปค ที่ได้เน้นความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ในการเป็นกลไกสำคัญในระบบเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นการพัฒนาในด้านต่างๆ และสร้างกระแสการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งการประชุมได้มีพิธีเปิดในวันที่ 6 กรกฎาคม 2543 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการนานาชาติเกาหลี ในกรุงโซล โดยประธานาธิบดี คิม ยัง ซัม ของสาธารณรัฐเกาหลี ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดและให้การต้อนรับรัฐมนตรีท่องเที่ยวกลุ่มเอเปคด้วยตนเอง
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปค 21 ประเทศ ได้ทำการลงนามร่วมกันในปฏิญญาการท่องเที่ยวเอเปค (APEC Tourism Charter) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการกำหนดทิศทางความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างสมาชิกและกำหนดเป้าหมายหลัก 4 ประการ คือ 1. การกำจัดอุปสรรคที่มีต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุนทางการท่องเที่ยว 2. อำนวยความสะดวกในการเดินทางและเพิ่มอุปสงค์ทางการท่องเที่ยว 3. การจัดการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 4. สร้างการยอมรับในบทบาทของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในกลุ่มเอเปค ซึ่งเป้าหมาย 4 ประการนี้ จะได้รับการผลักดันโดยแผนปฏิบัติการร่วมด้านการท่องเที่ยวของกลุ่มเอเปค
นอกจากนี้ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคที่กรุงโซล ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการเจรจานอกรอบกับประธานการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน และรัฐมนตรีวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวมาเลเซีย ในความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการจัดรายการนำเที่ยวด้อยคุณภาพจากประเทศจีน ซึ่งจากการเจรจาครั้งนี้ จะมีการประชุมระหว่าง จีน-ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์-ฮ่องกง ที่กรุงปักกิ่ง ปลายเดือนสิงหาคม ศกนี้ เพื่อหามาตรการดำเนินการ ให้การท่องเที่ยวในภูมิภาคเป็นกิจกรรมที่ส่งผลในด้านการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นอกเหนือไปจากการเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย--จบ--
-อน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ