กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ฟร้อนท์เพจ
กระทรวงไอซีที ระบุ การเสนอ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จึงได้รับความสนใจจากประชาชนและองค์กรภาคเอกชนเป็นอย่างมาก เผยปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของไทยมากกว่า 38 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 46 และมีแนวโน้มสูงขึ้นตามลำดับ ย้ำต้องมีกฎระเบียบทันสมัยเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง
นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ โฆษกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า
การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ของกระทรวงไอซีทีที่อยู่ระหว่าง
การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้ ได้นำเอาหลักเกณฑ์ที่ใช้กันในระบบสากลมาปรับใช้เพื่อให้กฎหมายทันสมัย เป็นเครื่องมือการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามแผนยุทธศาสตร์ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ตลาดดิจิทัลระหว่างประเทศในระยะยาว เปลี่ยนจากระบบการบังคับกฎหมายโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานทางปกครอง เป็นการวางกฎเกณฑ์ การกำกับดูแลให้เกิดความโปร่งใส เพิ่มกระบวนการกลั่นกรองโดยกำหนดขั้นตอนต่างๆ ให้มีความชัดเจน รัดกุมมากยิ่งขึ้น สามารถตรวจสอบได้และบังคับใช้กฎหมายผ่านกระบวนการทางศาล ยกตัวอย่างเช่น หลักการคุ้มครองผู้สุจริต ซึ่งจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกรณีผู้ให้
บริการโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่รู้ว่ามีการกระทำผิดผ่านเครือข่ายของตนก็ย่อมไม่ต้องรับผิด (หลัก "ไม่รู้ไม่ผิด") เพื่อให้การใช้งานระบบคอมพิวเตอร์มีความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และความรับผิดชอบให้มากที่สุด
ตัวอย่างการพัฒนากระบวนการให้เป็นสากลมากขึ้น ได้แก่ กรณีที่ร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวนี้เพื่อการคุ้มครองผู้สุจริตให้พอเหมาะพอดีมิให้เกิดความเสียหายลุกลามเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา ที่บางเรื่องกลายเป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต โดยผู้เสียหายไม่มีโอกาสแก้ไขภาพหรือเรื่องที่ได้กระจายไปอย่างรวดเร็วและยังคงค้างอยู่ในระบบสารสนเทศที่อาจนำกลับมาใช้ได้โดยไม่มีวันสิ้นสุด เช่น ข้อมูลเนื้อหาที่ละเมิดลิขสิทธิ์ คลิป หรือวิดีโอ ที่มีความรุนแรง หรือที่ทำให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายโดยไม่มีโอกาสแก้ตัวหรือได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด ซึ่งหากปล่อยให้มีการเผยแพร่ต่อไปก็อาจทำให้ความเสียหายขยายวงกว้างได้โดยไม่จำกัดระยะเวลา จึงบัญญัติให้เป็นอำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของสาธารณะ โดยศาลอาจสั่งระงับการเผยแพร่เนื้อหานั้นได้ จากเนื้อหาของกฎหมายฉบับเดิมอาศัยเพียงความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการตามกฎหมายโดยให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองทดแทนระบบเดิมโดยวางหลักการไว้เกี่ยวกับการใช้ดุลยพินิจนั้นต้องใช้เสียงเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการ และผ่านความเห็นชอบของรัฐมนตรีเพื่อนำส่งศาลพิจารณาในชั้นต่อไป
"นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเพิ่มความชัดเจนในการดำเนินการระงับหรือลบข้อมูลตามคำสั่งศาลให้เป็นไปตามกระบวนการที่กระทรวงประกาศอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้ตามเทคโนโลยีที่เหมาะสมในขณะนั้น และสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติสากล ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยมีมากกว่า 38 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 68 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 56 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 46มีผู้ใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) เฟซบุ๊ค อยู่ที่ 38 ล้านราย ไลน์ 34 ล้านราย และยูทูบ 28 ล้านราย โดยจำนวนผู้ใช้ออนไลน์แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ และเขตเมือง 25 ล้านราย และพื้นที่นอกเมือง 12 ล้านราย และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การเสนอร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องปรามการกระทำผิดและเป็นการคุ้มครองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ให้เกิดความเสียหาย" นายฉัตรชัยฯ กล่าว