กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนใช้ก๊าซหุงต้มถูกวิธี โดยเลือกใช้ถังก๊าซที่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพ ถังก๊าซอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิม วางถังก๊าซบนพื้นราบ ไม่ลาดเอียง และไม่วางในแนวนอน โดยจัดวางในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เปิดเตาแก๊สอุ่นอาหารทิ้งไว้โดยไม่ดูแล ปิดเตาแก๊สและวาล์วหัวถังก๊าซทุกครั้งหลังใช้งาน กรณีก๊าซรั่วไหล ให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน เพื่อระบายก๊าซออกสู่ภายนอก ห้ามเปิด – ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดหรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ที่สำคัญ ควรแจ้งร้านจำหน่ายก๊าซมาแก้ไขและเปลี่ยนถังก๊าซใหม่ทันที
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ก๊าซหุงต้มหรือก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงที่ภาคครัวเรือนและร้านอาหารนิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร แต่ด้วยคุณสมบัติที่ไวไฟ จึงติดไฟได้ง่าย โดยเฉพาะหากอุปกรณ์ถังก๊าซอยู่ในสภาพชำรุด ผู้ใช้งานขาดความระมัดระวัง จะมีความเสี่ยงต่อการระเบิดและเพลิงไหม้ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้ก๊าซหุงต้มอย่างถูกวิธีและปลอดภัย ดังนี้การเลือกใช้ถังก๊าซ ควรเลือกใช้ถังก๊าซที่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพ มีซีลปิดหัวถังพร้อมหมายเลขถังกำกับ ตัวถังก๊าซอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิม สายนำก๊าซเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้มและสามารถต่อกับลิ้นเปิด-ปิดได้สนิท การจัดวางถังก๊าซ ควรจัดวางถังก๊าซบนพื้นเรียบ ไม่ลาดเอียง ไม่วางถังก๊าซในแนวนอน เพื่อป้องกันก๊าซรั่วไหล วางถังก๊าซให้ห่างจากเตาแก๊สประมาณ 1.5 – 2 เมตร ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกหากก๊าซรั่วไหล จะได้ระบายก๊าซออกสู่ภายนอกและแก้ไขสถานการณ์ทันท่วงที ไม่วางถังก๊าซใกล้แหล่งความร้อน และเครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะหากก๊าซรั่วไหล จะเสี่ยงต่อการระเบิดและเพลิงไหม้ รวมถึงไม่วางถังก๊าซบริเวณที่เปียกชื้นหรือมีสารกัดกร่อนโลหะ เพราะอาจทำให้ก๊าซรั่วไหล การใช้ก๊าซหุงต้ม ไม่เปิดเตาแก๊สทิ้งไว้เป็นเวลานานโดยไม่ดูแล เพราะหากเกิดการลุกไหม้จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที ปิดเตาแก๊สและวาล์วหัวถังก๊าซทุกครั้งหลังใช้งานกรณีเปิดเตาแก๊สแล้วไฟไม่ติด ห้ามเปิดซ้ำติดต่อกันหลายครั้ง ให้ทิ้งระยะไว้สักครู่จึงค่อยเปิดซ้ำ เพราะก๊าซที่กระจายตัวจะสะสมอยู่ในอากาศกลายเป็นเปลวไฟลุกไหม้ได้ ที่สำคัญ ควรตรวจสอบเตาแก๊สและถังก๊าซให้อยู่ในสภาพปลอดภัย
หากชำรุดควรให้ช่างดำเนินการแก้ไขทันที ห้ามเปลี่ยนเองโดยเด็ดขาด กรณีก๊าซรั่วไหล รีบปิดวาล์วถังก๊าซ เปิดประตู หน้าต่างทุกบาน พร้อมใช้ไม้กวาดหรือกระดาษพัดเหนือระดับพื้น เพื่อระบายก๊าซออกสู่ภายนอก จากนั้นให้ยกถังก๊าซไว้ด้านนอกที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ห้ามเปิด – ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดหรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดประกายไฟอย่างเด็ดขาด เช่น สูบบุหรี่ เปิดพัดลม จุดไฟแช็ก เพราะจะทำให้เกิดระเบิดและเพลิงไหม้ได้ กรณีเกิดเพลิงไหม้ ให้รีบปิดวาล์วถังก๊าซ หากไม่สามารถปิดได้ ให้ใช้น้ำราดหรือเครื่องดับเพลิงฉีดพ่นบริเวณที่มีไฟลุกไหม้จนกว่าไฟจะดับสนิท จากนั้นให้แจ้งร้านจำหน่ายก๊าซมาแก้ไขและเปลี่ยนถังก๊าซใหม่ทันที ทั้งนี้ การเลือกใช้ถังก๊าซที่มีสภาพสมบูรณ์ การจัดวางถังก๊าซในบริเวณที่ปลอดภัย การใช้งานก๊าซหุงต้มอย่างถูกวิธี และการเรียนรู้วิธีแก้ไขเหตุฉุกเฉินกรณีก๊าซรั่วไหลและไฟไหม้ถังก๊าซ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากก๊าซหุงต้มแล้ว ยังทำให้สามารถระงับเหตุและแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th