กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--อิมเมจ อิมแพค
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับมาตรฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรตามข้อกำหนด WTO จัดทำ "นโยบายการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปี พ.ศ. 2545 - 2549" ฉบับแรกของไทยพร้อมรออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ในปีหน้าเตรียมจัดสัมมนาเชิงวิชาการให้ความรู้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่องค์กรภาครัฐและเอกเชนที่เกี่ยวข้องในวันที่ 16 พฤศจิกายนศกนี้
ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือ GTZ จัดทำ "นโยบายและแผนแม่บทการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช พ.ศ. 2545 - 2549" ฉบับแรกของประเทศไทยขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้นำนโยบายและแผนแม่บทฉบับใหม่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาไปแล้ว และเมื่อผ่านการอนุมัติก็จะใช้ร่วมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม ปี 2545 นี้
"เดิมมาตรการในการควบคุมดูแลสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นเพียงส่วนหนึ่งในข้อกำหนดของพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษปี พ.ศ. 2535 เท่านั้น ทำให้มีการใช้อย่างไม่ถูกต้องและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม รวมถึงเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเองด้วย กระทรวงเกษตรฯ จึงได้รวบรวมและกำหนดนโยบายฉบับนี้ขึ้นโดยเฉพาะ พร้อมกันนี้ ยังได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้และเป็นแนวทางปฏิบัติแก่องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในหัวข้อ นโยบายใหม่เกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อความปลอดภัยของชีวิต สิ่งแวดล้อม และการส่งออก ในวันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ ณ ห้องพิมานแมน โรงแรมรีเจนท์" ดร.นวลศรี กล่าว และให้รายละเอียดด้วยว่า
ปัจจุบันเกษตรกรไทยได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงปุ๋ย และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช มาใช้อย่างไม่ระวังต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทำให้สินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้รับการกีดกันทางการค้า จึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ในเรื่องมาตรฐานสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงข้อกำหนดจากการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Earth Summit ขององค์การสหประชาชาติที่กำหนดให้มีการจัดการสารเคมีให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
"ขณะนี้ผักสดและผลไม้ไทยที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศจำนวนมาก มีสารพิษตกค้างในปริมาณที่สูงเกินกว่ากำหนดของ CODEX ตามข้อตกลงของกลุ่มสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พบสารพิษปนเปื้อนอยู่ในผักและผลไม้ที่ส่งออกอยู่ในอัตราเพียง 1 - 2 % เท่านั้น อาทิ ถั่วฝักยาวมีสารโครไฟริฟอส ซึ่งเป็นสารพิษตกค้างสูงถึง 20.3 ppm ในขณะที่มาตรฐานกำหนดให้มีเพียง 0.2 ppm ส่วนผักคะน้าพบสารพิษไซเปอร์เมทรินตกค้างสูงถึง 4.72 ppm จากที่มาตรฐานกำหนดไว้เพียง 1 ppm เท่านั้น" ผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษการเกษตร กล่าว
องค์การความร่วมมือทางวิชาการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน หรือ GTZ (Deutsche Gesellschaft fur Technische Zusammenarbeit) เป็นองค์กรหลักที่ให้การสนับสนุนด้านวิชาการและเงินทุนแก่ประเทศไทยปีละกว่า 320 ล้านบาท เป็นเวลากว่า 40 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 30 โครงการ ทั้งในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การเกษตรและอุตสาหกรรม ปัจจุบัน GTZ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเอชบอร์น ประเทศเยอรมนี และมีเงินทุนหมุนเวียนปีละกว่า 38 พันล้านบาท
สนใจข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณสุนีรัตน์ เงินพูลทรัพย์ หรือ คุณเต็มศิริ สุจริตฉันท์
บริษัท อิมเมจ อิมแพค จำกัด ผู้ดำเนินงานประชาสัมพันธ์
โทร. 253-6810-1 โทรสาร 253-6805--จบ--
-อน-