กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--แฟรนคอม เอเชีย
· ต้นทุนแรงงานในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย ต่ำกว่าต้นทุนแรงงานของจีนกึ่งหนึ่ง
· อินโดนีเซียเป็นตลาดแรงงานที่แพงที่สุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน
· ไทยจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้บริหารระดับสูงต่ำที่สุด ทำให้มีศักยภาพการแข่งขันเหนือกว่ากลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย
· เงินเดือนในสิงคโปร์ยังสูงกว่าจีนอยู่มาก
วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน (NASDAQ: WLTW) บริษัทที่ปรึกษา โบรกเกอร์ และโซลูชั่นส์ชั้นนำระดับโลก เผยผลวิจัยล่าสุดชี้พื้นฐานเงินเดือนของไทยและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (Emerging ASEAN) ต่ำกว่าพื้นฐานเงินเดือนในประเทศจีนมาก ทำให้จีนเกิดความเสียเปรียบด้านความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนแรงงาน
พื้นฐานเงินเดือนทุกระดับงาน (Job grades) ในประเทศจีนสูงกว่าในไทยระหว่างร้อยละ 47 - 65 และสูงกว่าร้อยละ 5 - 44 ของพื้นฐานเงินเดือนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดแรงงานที่จ่ายแพงที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในอาเซียนที่ครอบคลุมอยู่ในงานวิจัย อันได้แก่ ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย รายงานฉบับนี้ยังครอบคลุมถึงประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มตลาดที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว
จากรายงาน ผลสำรวจประจำปี 2015/2016 เกี่ยวกับการวางแผนการจ่ายค่าตอบแทนการจ้างงานใน 50 ประเทศทั่วโลก(Willis Towers Watson's 2015/2016 Global 50 Remuneration Planning Report) โดยวิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ข้อค้นพบในส่วนของภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ยังสามารถเปรียบเทียบขีดความสามารถในการจ่ายค่าจ้างของแต่ละประเทศในภูมิภาค ด้วยการใส่ข้อมูลพื้นฐานเงินเดือนตามกรอบรายละเอียดงานที่ตรงกันสำหรับงานทุกระดับ รายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของความเคลื่อนไหวของเงินตรากับพื้นฐานเงินเดือนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
สำหรับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในอาเซียน ประเทศไทยและมาเลเซียจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้บริหารระดับสูงสุด (Top management) และผู้บริหารระดับอาวุโส (Senior management) ต่ำที่สุดตามลำดับ โดยจีนจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้บริหารระดับสูงสุดมากกว่าไทย 1.6 เท่า ในขณะที่จ่ายให้กับผู้บริหารระดับอาวุโส สูงกว่ามาเลเซียถึง 1.9 เท่า
รายงานยังระบุด้วยว่า พนักงานบริษัทในระดับเริ่มต้น (Entry or Professional level) ของจีนได้รับเงินเดือนพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 20,680 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าพนักงานในระดับเดียวกันของไทยราวร้อยละ 47 ที่ได้รับค่าตอบแทนเฉลี่ยปีละ 14,087 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ สำหรับตำแหน่งงานที่ได้รับค่าตอบแทนแตกต่างกันมากที่สุดระหว่างประเทศจีนและไทยคือ ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงสุด ซึ่งจีนจ่ายค่าจ้างสูงกว่าถึงร้อยละ 65 รองลงมาคือตำแหน่งผู้บริหารอาวุโส และผู้บริหารระดับกลาง (Middle management) ซึ่งมีความแตกต่างของการจ่ายค่าตอบแทนต่างกันน้อยลงคือ ร้อยละ 54 และร้อยละ 50 ตามลำดับ
เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ของอาเซียน ประเทศไทยมีการจ่ายค่าตอบแทนตามอัตราเฉลี่ยให้แก่พนักงานทุกระดับ ตั้งแต่พนักงานระดับเริ่มต้น ผู้บริหารระดับกลางและระดับอาวุโส ยกเว้นระดับผู้บริหารสูงสุดที่ประเทศไทยมีการจ่ายค่าตอบแทนต่ำที่สุด
คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย อธิบายว่า "จากรายงานนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สำหรับประเทศจีนแล้ว ค่าแรงต่ำไม่ได้เป็นจุดขายที่น่าสนใจอีกต่อไปในการเชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศ เพราะปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนมีเงินเดือนและค่าแรงงานโดยรวมถูกกว่าจีน ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความน่าสนใจมากกว่าสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ"
"โดยรวมแล้ว ประเทศไทยมีความได้เปรียบในด้านอัตราค่าจ้างแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ทำให้ไทยมีโอกาสในการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนประกอบสำคัญในการพิจารณาก่อตั้งและขยายกิจการในเอเชียของบริษัทต่างชาติ" คุณพิชญ์พจี กล่าวเสริม
ทั้งนี้ ตำแหน่งพนักงานระดับเริ่มต้นและผู้บริหารระดับกลางของเวียดนามและฟิลิปปินส์ มีฐานเงินเดือนต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจัดว่าต่ำกว่าจีนเป็นอย่างมาก
"ประเทศจีนให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการทำวิจัยและพัฒนา รวมถึงการผลิตสินค้าแบบมีมูลค่าเพิ่มสำหรับตลาดกลุ่มบนที่ต้องใช้ทักษะระดับสูง ด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบกับการเข้าถึงส่วนอื่นๆ ของซัพพลายเชนนี้เอง แม้ว่าจีนจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่กว่าและแรงงานที่มีทักษะฝีมือก็ยังทำให้จีนสามารถดึงดูดความสนใจของบริษัทต่างชาติได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในอาเซียน" มร. แซมบัฟ รัคยัน Global Data Services Leader ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน กล่าว
ฐานเงินเดือนของสิงคโปร์ยังสูงกว่ากลุ่มประเทศเกิดใหม่ในอาเซียนและภูมิภาค Greater China
แม้ว่าอินโดนีเซียจะจ่ายเงินเดือนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในอาเซียน แต่ยังห่างไกลจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาค และช่องว่างการจ่ายค่าตอบแทนยิ่งกว้างขึ้นเมื่อเทียบระหว่างสิงคโปร์กับไทย โดยฐานเงินเดือนของงานทุกระดับในสิงคโปร์สูงกว่าของไทยอยู่ที่ร้อยละ 97 - 228
เมื่อเรียงตามลำดับขั้นของตำแหน่งงานโดยไล่จากระดับพนักงานเริ่มต้นไปจนถึงระดับผู้บริหารสูงสุด ในสิงคโปร์มีฐานอัตราเงินเดือนสูงกว่าฮ่องกงซึ่งมีการจ่ายค่าตอบแทนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ Greater China ที่ร้อยละ 3 - 10
ผู้บริหารระดับกลาง ระดับอาวุโส ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงสุดในสิงคโปร์ ได้รับค่าตอบแทนมากกว่าจีนอยู่ระหว่างร้อยละ 28 – 52 โดยค่าตอบแทนที่ต่างกันมากที่สุดคือระดับพนักงานเริ่มต้น ซึ่งในสิงคโปร์จะจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าจีนมากกว่า 2 เท่า
"ประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้นำและมีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาค และยังคงพัฒนาขีดความสามารถเพื่อแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง สิงคโปร์ต้องการดึงคนที่มีความสามารถระดับสูงและมีความรู้ด้านการทำงานจากทั่วโลก ดังนั้นการเสนอเงินเดือนที่แข่งขันได้กับทั่วโลกจึงเป็นส่วนสำคัญของขั้นตอนนี้" มร.แซมบัฟ รัคยัน กล่าว "ในส่วนของ Greater China นั้น ฮ่องกงถือเป็นศูนย์รวมของคนที่มีความสามารถจากทั่วโลก ช่องว่างของฮ่องกงกับสิงคโปร์นั้นจะน้อยลงทันทีหากนำอัตราภาษีที่น่าสนใจกว่าของฮ่องกงไปพิจารณา"
มร. รัคยัน ได้เสริมเพิ่มเติมว่า ฐานเงินเดือนของจีนมีแนวโน้มที่จะคงอยู่ในอัตราสูง เพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถ เนื่องจากจีนกำลังให้ความสำคัญกับคุณภาพและความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และบริการมากขึ้น นอกจากนี้ การผนวกตลาดการเงินของจีนกับส่วนอื่น ๆ ของโลก ยังส่งผลให้เงินเดือนในภาคการเงินจำเป็นจะต้องแข่งขันได้ในระดับโลก เพื่อดึงและรักษาคนที่มีความสามารถที่สุดไว้ได้ด้วย"