กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท (SME087A) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นระดับ “AA-” จากเดิมที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจากการสนับสนุนของรัฐบาลผ่านทางกระทรวงการคลังในรูปของการเพิ่มทุน อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงบทบาทที่สำคัญของธนาคารในการเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อันดับเครดิตของธนาคารมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นจากการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีความชัดเจนมากขึ้นที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของธนาคารในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมทั้งลดความเสี่ยง และแก้ปัญหาคุณภาพสินทรัพย์อย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากผลการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีความผันผวนในช่วงที่ธนาคารอยู่ในระหว่างการลงทุนและปรับโครงสร้างองค์กร รวมทั้งความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในปัจจุบัน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงสถานภาพที่มีบทบาทของธนาคารในฐานะเป็นหนึ่งในธนาคารเชิงนโยบายที่สำคัญที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจในชนบทโดยผ่านการให้เงินทุนระยะยาวแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งถือเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลปัจจุบัน แนวโน้มอันดับเครดิตอยู่บนพื้นฐานที่คาดว่าความสัมพันธ์ของธนาคารกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ ตลอดจนการสนับสนุนทางการเงินในรูปของการให้ทุนและให้เงินชดเชยจากรัฐบาลจะไม่เปลี่ยนแปลงในระยะใกล้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารก่อตั้งในปี 2545 ภายใต้พระราชบัญญัติธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 (พ.ร.บ. ธพว.) โดยการรับโอนย้ายงานสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขยาดย่อม รวมทั้งงานด้านการเงินและปฏิบัติการจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (บอย.) ซึ่งก่อตั้งภายใต้ พ.ร.บ. บอย. พ.ศ. 2534 ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการยกระดับ บอย. ให้เป็น ธพว. กระทรวงการคลังได้ทำการเพิ่มทุนให้แก่ บอย. 2 ครั้งและได้เพิ่มทุนให้อีกครั้งหลังจากยกระดับเป็น ธพว. ไปแล้ว 2 ปี ต่อมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการเพิ่มทุนใหม่อีกครั้งโดยมีกำหนดในเดือนตุลาคม 2548 และอีกครั้งในปี 2549 กระทรวงการคลังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารเพื่อให้มีทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาทตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ธพว. โดยความสำเร็จในการเพิ่มทุนเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากรัฐบาลที่มีต่อธนาคาร
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2546 ธนาคารได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เริ่มด้วยการแยกสายงานสินเชื่อออกเป็น 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักเพื่อให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นนโยบายของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และในปี 2548 ได้มีการจำแนกกลุ่มอุตสาหกรรมหลักดังกล่าวให้ละเอียดยิ่งขึ้นเป็น 10 กลุ่ม นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ใช้รูปแบบการดำเนินงานแบบโครงข่ายผสานกันระหว่าง 10 กลุ่มอุตสาหกรรมกับ 19 กลุ่มจังหวัดสำคัญตามที่กำหนดโดยรัฐบาล รวมทั้งยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและโครงร่างการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการจัดระเบียบโครงสร้างองค์กรให้มีระบบที่ชัดเจนมากขึ้น การริเริ่มเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารในอนาคตโดยคาดว่าจะช่วยให้ธนาคารมีการดำเนินงานที่คล่องตัว ลดความเสี่ยง และพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ให้ดียิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งยังกล่าวด้วยว่า ความท้าทายของธนาคารในการก้าวไปข้างหน้าคือการผสานรูปแบบแนวนโยบายใหม่ของธนาคารที่เน้นการบริหารความเสี่ยงให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรและแนวทางการพิจารณาสินเชื่อที่เป็นอยู่ ตลอดจนกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยรัฐบาล ธนาคารจำเป็นที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างภารกิจในการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความเสี่ยงสูงให้เข้ากับโครงร่างการบริการความเสี่ยงซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์จะ
ช่วยให้ธนาคารสามารถดำรงสถานภาพเชิงกลยุทธ์เอาไว้ได้แม้ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองในอนาคต ทริสเรทติ้ง--จบ--