กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--GIZ
สหภาพยุโรป (EU) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เปิดตัวโครงการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ โดยโครงการฯ ตั้งเป้าในการสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์จำนวน 500 ราย ภายในปี พ.ศ. 2562
โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 2.4 ล้านยูโร (ราว 96 ล้านบาท) จาก EU และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) โดยมี GIZ เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ หลักร่วมกับสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) และสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (MI) นอกจากนี้โครงการฯ ยังทำงานร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้า สมาคมรถบรรทุก และสมาคมขนส่งอาเซียน เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมโครงการฯ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ตัวแทนจากสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่า "โครงการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภายใต้การสนับสนุนจากแผนงาน SWITCH Asia Programme จะดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้และจัดทำมาตรการสนับสนุนด้านนโยบาย อาทิ มาตรฐานและการติดฉลาก กฎระเบียบ และการริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งที่ทันสมัย"
"เราตระหนักอยู่เสมอว่าภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์เป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และยังเป็นสาขาสำคัญภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะส่งเสริมการขยายตัวด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและการบริการ ดังนั้นเราจะทำอย่างเต็มความสามารถในการดำเนินโครงการฯ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าประเทศจะเติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนและสามารถเพิ่มสวัสดิการให้แก่บุคลากร ตลอดจนมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้"
คุณวิลาสินี ภูนุชอภัย ผู้อำนวยการร่วม โครงการการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) กล่าวเสริมว่า "โครงการฯ จะพัฒนามาตรการด้านความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ของภาคการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงต่อปริมาณการขนส่งและส่งเสริมความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตราย กิจกรรมส่วนใหญ่จะต่อยอดจากประสบการณ์ของความสำเร็จที่ผ่านมา ได้แก่ แผนงานหลักการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CEP) ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) การเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA) และโครงการอาเซียน-เยอรมันด้าน "การขนส่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง"
"จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาคการขนส่งสินค้าของ ADB บ่งชี้ว่าการเคลื่อนย้ายและส่งออกสินค้าในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นร้อยละ 75 ระหว่างปี พ.ศ. 2545 และ 2554 ส่งผลให้มีการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันอุปสรรคในการพัฒนาภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ได้แก่ การบรรทุกสินค้าเกินน้ำหนัก พฤติกรรมของคนขับรถ อายุของรถบรรทุกซึ่งมากกว่า 10 ปีโดยเฉลี่ยและยังมีการบำรุงรักษาไม่ดีเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีการวิ่งรถเปล่ามากกว่าร้อยละ 25 สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการใช้น้ำมันที่ไม่มีประสิทธิภาพและเกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การขนส่งสินค้าอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยตามหลักสากล และการขาดแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ยังส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคนี้ด้วย ดังนั้นโครงการฯ จึงมุ่งเน้นการใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย การขับขี่เพื่อประหยัดพลังงาน ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงและบำรุงรักษาเทคโนโลยีการขนส่งสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน"