กรุงเทพฯ--16 มิ.ย.--สหมงคลฟิล์ม
แต่ไม่เพียงเท่านั้นเพราะงานนี้ นอกจาก 2 คาแรคเตอร์หลักอย่าง ขุนพันธ์ และอัลฮาวียะลู ซึ่งได้ 2ซูเปอร์สตาร์ระดับแม่เหล็กอย่าง อนันดา เอเวอริงแฮม และ น้อย กฤษดา สุโกศล แคลปป์ มาสวมชีวิตถ่ายทอดผลงานระดับมาสเตอร์พีซกันแล้ว สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์เป็นที่จับตามองยิ่งๆขึ้นไปอีก คือการที่ได้เหล่านักแสดงคุณภาพระดับฝีมือชั้นแนวหน้าของเมืองไทยที่มีความลุ่มหลงในการแสดงมาร่วมสวมชีวิตและจิตวิญญาณ พลิกบทบาทครั้งสำคัญเป็นอีก 5 คาแรคเตอร์ตัวละครหลักร่วมขับเคลื่อนเรื่องราวพร้อมโชว์ศักยภาพทางด้านการแสดงอย่างจัดเต็ม ทั้งเชือดเฉือน ปะทะทั้งบทบาทและอารมณ์ความรู้สึก รวมไปถึงตะลุยแอคชั่นเดือดร่วมกันได้อย่างอลังการในทุกๆฉากทุกๆซีนให้สมกับที่ "ขุนพันธ์" คือภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่จะกลับมาเรียกศรัทธาผู้ชมอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็น เดี่ยว ชูพงษ์ ช่างปรุง พระเอกแอคชั่นสตันท์เสี่ยงตายที่ก่อนหน้านี้เราจะได้สัมผัสถึงความเข้มข้น จริงใจ ในบทบาทของนักสู้ที่ยืนหยัดในความถูกต้องมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ผู้กำกับก้องเกียรติ ตั้งใจจับเดี่ยวมาพลิกบทบาทเป็น เสือสัง นักฆ่าผู้ไร้ความปราณีเหี้ยมโหด ดุดัน ราวกับสัตว์ป่า สมุนมือซ้ายคนสำคัญของอัลฮาวียะลู พร้อมกับปล่อยให้เดี่ยวโชว์คิวแอคชั่นปล่อยของในงานแอคชั่นเสี่ยงตายในทางถนัดในวิช่วลการต่อสู้กับขุนพันธ์โดยเฉพาะจนเกิดเป็นสารพัดคิวแอคชั่นมันส์ๆไม่ว่าจะเป็นแอคชั่นบนหลังม้า, แอคชั่นบนรถไฟ ฯลฯ ที่เราจะได้เห็นเดี่ยวชูพงษ์ซัดอนันดาจนน่วมกันเลยทีเดียว
"ในบ้านเราผมว่า นักแสดงสายแอคชั่น เรามีกันไม่กี่คน เรามีจาพนม เรามีพี่พันนา แล้วก็มีเดี่ยว ชูพงษ์ เมื่อก่อนเราจะเห็นเดี่ยวเป็นพระเอกแอคชั่นเล่นเป็นคนดี เรารู้สึกว่า เฮ้ย จริงๆแล้วตัวร้ายซึ่งแบบ เก่งสุดๆเลย บู๊เก่งสุดๆเลย แล้วร้ายแบบน่ากลัว เรารู้สึกว่าเดี่ยวมันมีมุมแบบนี้ แล้วมันจะทำได้ดี เราก็ไปบอกเดี่ยว ลองเล่นแบบนี้ดูไหม ก็ดีไซน์เต็มเหนี่ยวเลย มันมีลักษณะเหมือนเผ่าของสัตว์ป่าบางอย่างอยู่ ในเรื่อง ชื่อว่าเสือสัง มีอาคมเป็นพวกลิงลม เป็นพวกเคลื่อนไหวเร็วเรียกว่าเป็นคู่ปรับสำคัญ ไฮไลต์เลยของเดี่ยวก็คือการเผชิญหน้ากับขุนพันธ์ แล้วก็สู้กันด้วยคารัมบิต ซึ่งเป็นอาวุธประจำตัวของเขา กับขุนพันธ์ใช้มีด ดวลกันแบบบนรถไฟ มีแอคชั่นบนหลังม้า ซึ่งแต่ละซีนถือว่ายากเลยทีเดียวครับ"
ถึงแม้จะเป็นการทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกกับผู้กำกับก้องเกียรติ และคิวบู๊หรือฉากแอคชั่นดีไซน์ที่ปรากฎในแต่ละฉากของขุนพันธ์ ไม่มีฉากไหนที่ง่ายเลย แต่ถึงกระนั้นเดี่ยวเองก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าการที่พลิกบทบาทมาเป็นผู้ร้ายเต็มๆตัวในภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์คือประสบการณ์การทำงานที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ทำงานที่แวดล้อมไปด้วยนักแสดงระดับยอดฝีมือไม่ว่าจะเป็นอนันดา, กฤษดา,แฟรงค์ ภคชนก์, สนธยา, กานต์พิสชา และพิมลรัตน์ โดยเป็นการกลับมาร่วมงานกับอนันดาอีกครั้งหลังจาก "ปืนใหญ่จอมสลัด" เพียงแต่ครั้งนี้ต้องมาเผชิญหน้าปะทะกันในฐานะผู้ร้ายกับตำรวจ พร้อมกับความตั้งใจของตัวละครเสือสังที่ว่าจะต้องพิชิตขุนพันธ์ให้ได้
"ก็ถือว่ายากครับ ต้องศึกษา เพราะว่าเราก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเสือสมัยก่อนเขามีวิถีเป็นยังไง ต้องทำการรีเสิร์ชแล้วก็อ่านบท ทำความเข้าใจกับบทที่เราต้องถ่ายทอดอย่างมากครับ ซึ่งก็ได้พี่โขมที่ให้คำแนะนำตลอด ก็เลยทำให้เราสามารถที่จะถ่ายทอดอารมณ์ตรงนั้นออกมาได้ครับผม แล้วในทุกครั้งของการถ่ายทำกว่าที่จะออกมาเป็นเสือสังอย่างที่เห็นก็จะต้องมีการแปลงลุคเปลี่ยนโฉมกันพอสมควรเลยคือ การแต่งตัวจะยากมาก แล้วก็ต้องมีการลงรอยสัก มีการแต่งหน้าทำผมอะไรทุกๆอย่าง รวมๆแล้วก็ประมาณ 4-5 ชั่วโมงครับต่อวัน นอกจากนั้นก็มีการฝึกคารัมบิตครับ แล้วก็มีพวกปันจักสีลัต ประสบการณ์จากหนังเรื่องขุนพันธ์สำหรับผมแล้วสิ่งที่กลายเป็นความพิเศษด้วยก็คือ การได้เล่น ได้เข้าฉากร่วมกับนักแสดงที่เก่งๆ อย่างพี่น้อย กฤษดาและ พี่จ่อย-อนันดา มันทำให้เราได้เรียนรู้ มันเหมือนเป็นการส่งต่อความสามารถทางด้านการแสดงผ่านมาที่ตัวเรา มันทำให้กลายเป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆเลยครับสำหรับผม ส่วนฉากแอคชั่นในภาพยนตร์มีหลายฉากมาก และแต่ละฉากก็ยากทั้งสิ้น แค่เฉพาะฉากเดียวก็ซ้อมเป็นเดือนแล้วครับต้องคิดต้องดีไซน์ทำเวิร์คชอพ แล้วพอถ่ายจริงก็อีก 3-4 วัน ความยากนะครับ คือมันต้องสู้กันบนหลังคารถไฟ มันจะไม่ใช่พื้นที่เรียบๆมันจะเป็นแบบโค้งๆเวลายืน คอนโทรลตัวเองจะยากมาก อากาศที่ร้อนมากๆ คิวที่ยากเลยทำให้ทุกอย่างทวีคูณยิ่งขึ้นแต่ก็ออกมาได้อย่างที่ทุกคนหายเหนื่อยเลยครับ"
ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของภาพยนตร์ผู้ชมจะได้สัมผัสกับการเล่าเรื่องผ่านอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่ว่ากันว่าเป็นอีกความสามารถทาด้านการแสดงของ แฟรงค์-ภคชนก์ โวอ่อนศรี สุดยอดนักแสดงจอมขโมยซีนที่ก่อนหน้านี้สร้างความฮือฮา และเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากมายกับบทบาทของตัวร้ายสุดเหี้ยมใน"อันธพาล" จนกวาดเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์และผู้ชมอย่างถ้วนหน้า ซึ่งการกลับมาร่วมงานกับผู้กำกับก้องเกียรติอีกครั้งในบทหลวงโอฬาร นักการเมืองตัวร้าย คนขายชาติที่พร้อมกอบโกยและเอาเปรียบทุกคนแม้กระทั่งแผ่นดินเกิดที่ผู้ชมจะได้สัมผัสกับอีกขั้นของการแสดงที่ฉีกรูปแบบของการรับบทตัวร้ายอย่างที่เราคาดไม่ถึง
"คาแรคเตอร์ตัว หลวงโอฬาร รับบทโดยแฟรงค์ (ภคชนก์ โวอ่อนศรี) ก็จะเป็นตัวแทนของระบบข้าราชการที่อาศัยความที่รู้มากกว่าเอาเปรียบคน การกะล่อนปลิ้นปล้อนตอแหล การฉ้อราษฎร์บังหลวง การสร้างภาพ ว่าเรื่องราวมันเกิดขึ้นพยายามจะบอกว่า เราต้องใส่หมวก เราต้องแต่งตัวแบบนี้ เพราะเราจะเป็นอารยประเทศ เราจะเป็นประเทศที่ฝรั่งเห็นแล้วชื่นชม แต่จริงๆแล้ว เราไม่ได้ทำสิ่งนั้นอยู่ มันเป็นคนมีความรู้แหละ ต้องจบนอกสมัยก่อน แต่ทำไมถึงถูกมาอยู่ในที่แบบนี้ แสดงว่ามันอาจไม่ได้เป็นคนดีหรอกนะ เราจะดีไซน์ยังไงให้ดูแบบ รวย เจ้าเล่ห์ สุภาพ แสนดี เห็นจังหวะที่จะเอาเปรียบคนได้ตลอดเวลา คือ แฟรงค์ทำงานกับเรามาหลายเรื่องละ หลายคนถ้าเคยเข้าฉากกับแฟรงค์จะรู้ว่า ถ้านักแสดงคนนั้นไม่มีสมาธิพอ อาจจะโดนจู่โจมจากการแสดงของแฟรงค์ เขาสามารถสร้างคาแรคเตอร์ที่เขารับบทบาทได้ เกลียดเราก็จะเกลียดมันจนแบบว่า หรือไอ้นี่น่าหมั่นไส้ อาจจะเพราะว่าเราเป็นเพื่อนกันด้วย เรารู้ แฟรงค์มุมนี้ดีกว่าลองเล่นแบบนี้ดู นักแสดงทุกคนเหมือนกันหมด เป็นหนังที่ผมตอบคำถามนักแสดงเยอะมาก เพราะนักแสดงช่างถามมาก โห เขาทำการบ้านกันละเอียดมาก"
ในการถ่ายทอดบทบาทของหลวงโอฬารออกมาให้สมบูรณ์ที่สุดทางกองถ่ายต้องส่งล่ามมาให้ แฟรงค์หัดเรียนรู้การพูดภาษาญี่ปุ่น และฝรั่งเศสโดยมีหนังสือ 3 เล่มที่ต้องศึกษาควบคู่ไปด้วยนั่นคือ "100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว" ของ "กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ", "การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475" ของ "อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" และ "BANGKOK 230 ปีมหานครหลากชีวิต" โดย "ราชศักดิ์ นิลศิริ"
"สำหรับบทหลวงโอฬารมันมีความยากตรงที่หลวงโอฬารจะเป็นคนที่รู้อะไรก่อนที่ทุกคนในเรื่องนี้จะรู้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีคนของส่วนกลางเข้ามา ไม่ว่ากองกำลังของญี่ปุ่นกำลังตีนานกิงได้แล้ว ในเรื่องมันเป็นคนใฝ่รู้ มันเลยทำให้มีความรู้มากมายและก็รู้ข่าวความเคลื่อนไหวของทุกมุมโลกต่างๆ มันเป็นยุคเดียวกันกับที่คนไทยยังพัฒนาใหม่ๆ คนที่รู้ว่าโลกนี้กลมยังมีไม่เยอะมากในประเทศนี้ และด้วยความรู้ที่มีมากกว่าทุกคน เข้าใจถึงสถานการณ์ของโลกมากกว่า รู้ภาษาอื่นๆหลายภาษามากกว่า ทำให้รู้ว่าสถานการณ์ของสงครามโลกไปถึงไหนแล้ว สภาวะข้าวยากหมากแพงจะมาเมื่อไหร่ เราควรจะกักตุนอาหารไว้เมื่อไหร่ไว้รอสงครามมาแล้วขึ้นราคามัน อันนี้คือข้อได้เปรียบของตัวละครนี้ แล้วมันทำให้เราสนุกสนานว่า เมื่อเราเล่นฉากนี้ไป ฉากนี้คนดูรู้อะไรแล้ว เรารู้อะไรไปแล้วที่คนดูยังไม่รู้ แล้วเราจะเก็บไว้ยังไงให้ทั้งคนดูก็ไม่รู้ ทั้งคนที่เล่นกับเราก็ไม่รู้ว่าเรารู้ อันนี้คือสิ่งที่เราต้องมาทบทวนโดยตลอดทุกครั้ง และสิ่งที่เป็นที่สุด อีกอย่างหนึ่งในคาแรคเตอร์นี้ก็คือ หลวงโอฬารเป็นคนที่รู้เยอะ มีความรู้รอบตัวเยอะ แล้วก็มีความทะเยอทะยานด้วย บุคลิกของเขาก็เลยมีพลัง เหมือนจะเป็นพลังของรอยยิ้ม เหมือนจะเป็นพลังด้านบวก แต่มันถูกขับออกมาจากความกระหายภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันสนุกในการเก็บซ่อนเอาไว้ เขาจะไม่ทำอะไรตรงๆเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาเลย แต่เขาจะทำสิ่งหนึ่งเพื่อให้เกิดผลขึ้นมาอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งนั่นแหละเป็นสิ่งที่ยากแล้วก็ต้องพูดหลายภาษามากเป็นนักการเมืองชาวใต้ก็ต้องพูดภาษาใต้ได้ ซึ่งภาษาใต้ยากที่สุด เพราะว่าสำเนียงมันยากนะครับภาษาใต้ แล้วถ้าเกิดพูดผิดมันจะกลายเป็นล้อ เหมือนล้อทันที เราก็พยายามที่จะพูดให้ชัดทันที แล้วก็ภาษาญี่ปุ่น ต้องพูดภาษาญี่ปุ่น ต้องร้องเพลงญี่ปุ่น มีกงสุลฝรั่งเศสเข้ามาก็ต้องพูดภาษาฝรั่งเศส ซึ่งพูดจริงๆคือไม่มีความรู้เรื่องภาษาเหล่านี้เลยนะ แต่ก็อาศัยว่ามีเจ้าของภาษา มาอธิบาย แต่ละพยางค์ แต่ละประโยคว่ามันหมายถึงอะไร แล้วก็พยายามที่จะพูดอะไรให้มันสื่อสารให้ได้ในจังหวะจะโคนที่มันถูกต้อง ก็ค่อนข้างพอใจนะครับ สนุกสนานนะครับ มันทำให้เราตื่นขึ้นมาทำงานในทุกวัน เอาละว่าวันนี้เจออะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง"
อีกหนึ่งตัวละครสำคัญในภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์และเป็นการกลับมาร่วมงานกันเป็นครั้งที่ 4 ของสน เดอะสตาร์ หรือ สนธยา ชิตมณี (ไชยา, เฉือน, อันธพาล) และผู้กำกับโขมก้องเกียรติ โดยครั้งนี้ให้มารับบท ไข่โถ ชาวเลที่อยู่ใต้อาณัติของนักการเมืองชั่ว "ทำไมเราจะไม่เป็นโจรละเป็นหนี้ขนาดนี้เราไปไหนไม่ได้ ประโยคหนึ่งที่ตัวละครไข่โถพูดไว้ในภาพยนตร์สะท้อนให้รู้ว่าเมื่อก่อนเราหิวเราก็ลงทะเลหาปลา เดี๋ยวนี้เราหิวเราก็ต้องไปกู้เงินมัน นี่ก็เป็นเหตุผลที่แต่ละตัวละครมันก็มีมิติที่สะท้อนเหตุผล คือการตั้งคำถามว่า แล้วโจรเกิดขึ้นด้วยอะไร ตัวละครพวกนี้มันก็จะถูกดีไซน์มาเพื่อรองรับประเด็นเหล่านี้ไว้ครับ"
และในขณะเดียวกันนี่คือตัวละครที่ผู้กำกับก้องเกียรติเขียนขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้สนได้ใช้ศักยภาพและความหลงใหลทางด้านการแสดงปล่อยของออกมาชนิดที่พูดได้ว่าไม่มีฉากไหนที่ไม่ได้รีดศักยภาพ และเรียกหาความสามารถในการเป็นนักแสดงของ สนธยา ชิตมณี ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าบทที่ได้รับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เขาได้รับจากภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์
"ถือได้ว่าบทไข่โถในภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์เป็นโจทย์ที่ใหญ่ขึ้น ต้องตีโจทย์เยอะ และเป็นการแสดงที่ยากขึ้นครับ มีหลายมิติในตัวอารมณ์ของการแสดง ดีใจมากเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พี่โขมได้ให้โอกาสมอบบทที่เป็นการท้าทายความสามารถที่ให้เราได้พัฒนาการแสดงยิ่งๆขึ้นไปอีก เพราะความท้าทายในผลงานหลายๆเรื่องที่ผ่านมาที่ได้สัมผัสการทำงานร่วมกับพี่โขมไม่ว่าจะเป็นไชยา, เฉือน, อันธพาล ก็ถือว่ายากระดับหนึ่งแล้วละ ยาก แต่ไม่คิดว่าจะมาเจอแบบที่ต้องขยี้อารมณ์ขนาดนี้ และทุกฉากที่มีไข่โถ ต้องเป็นซีนอารมณ์ทุกซีนทุกฉาก เริ่มต้นอาจเข้าทางตัวเองหน่อยคือเป็นคนสนุกสนาน ร่าเริง ร้องเพลง ร้องลิเกฮูลู เกิดมาก็ไม่เคยร้องครับลิเกฮูลู ครั้งแรกในชีวิต แต่หลังจากนั้นพอมาถึงจุดเปลี่ยนของหนัง ตัวละครเกิดความสูญเสีย ทุกฉากทุกซีนที่ไข่โถปรากฎตัวอยู่บนแผ่นฟิล์ม มันต้องมาจากอารมณ์ล้วนๆ มันไม่ใช่เรื่องของแค่การแสดงอย่างเดียว มันต้องรู้สึกจริงๆ มันต้องเข้าใจจริงๆ แล้ว มันยากมากครับ เพราะระดับอารมณ์ที่ถ่ายทอดออกมาแต่ละซีนจะมีความแตกต่างของอารมณ์ไม่เท่ากันในแต่ละความสูญเสียที่เกิดขึ้น"
มาจนถึง 2 ตัวละครสุดท้ายใน 7 คาแรคเตอร์หลักที่ได้ 2 นักแสดงสาวมากความสามารถมาถ่ายทอดบทบาทของตัวละครหญิงในภาพยนตร์แอคชั่นผู้ชายๆจากมุมมองของผู้กำกับโขมก้องเกียติที่มีชื่อเป็นดอกไม้ที่สวยงาม แต่ความงามของเธอมาพร้อมกับพิษที่พร้อมจะลุกขึ้นมาเล่นงานผู้ชายทั่วๆไปได้อย่างไม่กลัวเกรง
"ในภาพยนตร์เรามีนักแสดงหญิง 2 คน นั่นคือ น้องอ้อม (กานต์พิสชา เกตุมณี) นะครับ กับ น้องกบ (พิมลรัตน์ พิศลยบุตร) จริงๆอ้อมก็เป็นลูกศิษย์หม่อมน้อยซึ่งคนส่วนใหญ่ได้เห็นอ้อมเล่นในแม่เบี้ยมา ภาพยนตร์เรื่องขุนพันธ์เราจะเห็นชุมชนในหุบเขาทั้งหมดที่บอกว่าเป็นโจร ทุกคนมีเหตุผลในการลุกขึ้นมาเป็นโจร และเหตุผลของทุกคนน่าฟังทั้งนั้น ทำไมตัวบุหงา (กบ พิมลรัตน์) ผู้หญิงแสนสวยที่ซ่อนตัวเองเอาไว้ในร่างของความเป็นชาย หรือ ตัวมาลัย (อ้อม กานต์พิสชา)เอง ซึ่งเหมือนกับดอกไม้ที่มันสวยงามในถิ่นนี้ ดอกไม้ป่าซึ่งเธอเป็นนักร้อง แต่ชีวิตจริงๆเธอเป็นอะไร เธอเป็นนกต่อ เธอเป็นเครื่องมือฆ่าคน เธอเป็นดอกไม้ซึ่งเธอมีพิษ แม้จะเป็นผลงานเรื่องแรกเราก็ไม่สามารถประนีประนอมได้ ถ้าอ้อมถูกล้อมไว้ด้วยคนเหล่านี้ ถ้าอ้อมเบาหรือดรอป ตัวน้องก็รู้เขาพยายามแล้วก็ทุ่มเทมากๆ ที่จะไม่ยอมให้ตัวเองเป็นปัญหา อ้อมก็ตามได้ทันนะครับ ส่วนกบผ่านงานมาเยอะ เล่นหนังมาตั้งแต่เด็กๆแล้วก็จะเหมือนกับนักแสดงมืออาชีพทุกคน ก็คือกบหาความหมายในการกระทำทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุและผล คือเราทำงานกันเหมือนนั่งคุย เหมือนเราจะสร้างตัวละครนี้ด้วยกัน กบก็จะถาม เฮ้ยมันดูดบุหรี่ไหม แบคกราวน์คืออะไร ตัวละครนี้เป็นยังไง ทำไมมันจะต้องแต่งตัวแบบนี้ มันมีไฟแช็ก มันชอบเล่นอะไรเกี่ยวกับไฟแช็กไหม ผ่านการดีไซน์คาแรคเตอร์ในทุกรายละเอียดหลอมรวมออกมาเป็นตัวละครซึ่งสนุกมากครับเวลาที่เราทำงานกัน"
แต่ด้วยความตั้งใจเกินร้อยและทุ่มเทสุดชีวิตสุดตัวทำให้บทมาลัยไม่เพียงฉายเสน่ห์ทางด้านการแสดง แต่ยังพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถทางด้านการแสดงในบทบาทที่ทั้งยาก ท้าทายและเต็มไปด้วยความหลากหลายทางด้านอารมณ์สำหรับนางเอกสาวอย่างอ้อมกานต์พิสชา
"สำหรับบทมาลัยนะคะ ต้องขอบคุณพี่โขมที่พี่โขมเขียนบทให้ตัวมาลัยมีความซับซ้อน มีหลายคาแรคเตอร์ มีทั้งร่าเริง สนุกสนาน ให้ความสุขกับคนที่มาลัยได้เกี่ยวข้องต่างๆไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงหรือลิเกฮูลู หรือว่าจะเป็นพาร์ทที่ลึกซึ้ง กระชากอารมณ์ พาร์ทแบบรู้สึกเสียใจ แต่ละวันบางทีก็มีทั้งซีนที่ต้องร้องไห้หนักสุดๆถึงขนาดบางทีกลับไปบ้านแล้วก็มีปวดหัว เพราะวันนี้มีการใช้อารมณ์ค่อนข้างเยอะ ก็มีเครียดบ้าง แล้วก็ยังมีซีนโรแมนติกหรือแม้แต่ฉากแอคชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือว่าเป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ค่อนข้างมีมิติหรือมีอารมณ์การแสดงที่ชัดเจน แน่นอนในเรื่องเป็นสาวใต้ ก็เลยจะต้องมีการเรียนพูดภาษาใต้ด้วย ทั้งๆที่ตัวจริงก็ไม่ได้เป็นคนใต้ แต่พอเล่นเป็นคนใต้ก็ต้องมีบทพูดภาษาใต้ ก็ได้หัดพูดกับพี่อนันดา นอกจากนั้นทุกครั้งก่อนเข้าฉากหรือเข้าซีนก็จะต้องมีทาผิวให้เป็นผิวสีแทนตามแบบฉบับของชาวใต้ เวลาแต่งตัวเข้าฉากก็เลยต้องใช้เวลานาน นอกจากมีผิวแล้วก็ต้องทำผมให้เป็นผมหยิกๆ อย่างที่พี่โขมขอมาเลยคืออยากให้ตัวมาลัยเป็นสาวใต้เลย ผมหยิก ผิวแทนๆๆ เพื่อที่จะต้องการทำให้ตัวบุคลิกของมาลัยชัดเจนขึ้น ก็ถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับตัวเรายิ่งทำงานกับนักแสดงที่ล้วนแล้วแต่มีฝีมือทุกๆคนเลย ก็ยิ่งทำให้ต้องตั้งใจมากๆ ถ้าดูจากภายนอกจะเป็นตัวละครที่เปรียบเหมือนกับดอกไม้ที่คอยสร้างสีสันมอบความสุขให้กับทุกคนเพราะฉะนั้นก็จะเห็นมาลัยมีทั้งแต่งตัวใส่ชุดมีสีสันต่างๆ ตอนทำงานอยู่ในสโมสรนอกเหนือจากลุคชาวบ้านชาวเลแต่จริงๆแล้ว มาลัยเขาค่อนข้างที่จะมีความซับซ้อนอยู่ในตัว หลายครั้งสิ่งที่มาลัยต้องทำไปโดยที่ตัวเองก็ไม่มีความสุขแต่ก็ต้องทำเพื่อคนอื่น คือนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเองหรือบางพาร์ทจะมีความสับสน ระหว่างจะเป็นคนดีดีหรือจะเป็นคนไม่ดีดี หรืออยากจะเห็นแก่ตัวมีความรักดี ซึ่งอารมณ์ก็จะหลากหลายมากๆ เราก็ต้องทำความเข้าใจในสิ่งที่ตัวมาลัยต้องเจอถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ"
และในขณะเดียวกันที่จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่เซอร์ไพรส์สำหรับผู้ชมนั่นคือการได้เห็น กบ พิมลรัตน์ พิศลยบุตร การพลิกบทบาทมารับบทบุหงานักฆ่าสาวผู้ซ่อนเร้นบาดแผลแห่งอดีต สมุนมือขวาของอัลฮาวียะลู
"คาแรคเตอร์ของบุหงาก็จะเป็นนักฆ่าหรือมือสังหารซึ่งเป็นมือขวาของอัลฮาวียะลูซึ่งรับบทโดยพี่น้อยวงพรู บุหงาจริงๆแล้วเขาเป็นผู้หญิงนะคะ แต่ว่าด้วยเรื่องราวในชีวิตหลายๆอย่างที่เคยเจอมาในวัยเด็กทำให้หล่อหลอมให้กลายเป็นคนที่มีคาแรคเตอร์ที่ถ้าดูด้วยการแต่งตัว ด้วยอะไรหลายๆอย่างจากเครื่องประดับทำให้รู้สึกว่าตัวบุหงาไม่รู้ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย การวางตัวของเขาในฐานะนักฆ่ามือสังหาร การใช้ชีวิตของเขา วิธีคิดของเขา ซึ่งแตกต่างมากเลยจากตัวกบ ส่วนตัวหลังจากอ่านบทก็รู้สึกว่าคาแรคเตอร์เจ๋งดี ไม่เคยเล่นบทแบบนี้เลย ใช้เวลาอยู่นานในการค้นหาตัวละครตัวนี้ที่มีมิติหรือตัวตนลึกๆที่เราต้องทำความรู้จักเยอะ ว่าเหตุและผลในการกระทำของตัวละครตัวนี้ ทำไมต้องมีรีแอ็คแบบนี้หรือแสดงออกแบบนี้ในทุกๆ การกระทำ มีความคิดอย่างไร หรือมีอะไรแฝงอยู่ในความเจ็บปวด การฆ่าของบุหงาก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาอยากทำแต่มันเป็นการฆ่าที่มันถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก มันทำด้วยความจำเป็น บุหงาจะเป็นผู้หญิงที่พูดน้อยมาก หลายครั้งเหมือนกับว่าเขาไม่มีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้ บุคลิกภายนอกที่เห็นชัดที่สุดก็คือแว่นตาสีดำที่สวมใส่อยู่ตลอดเวลาเพื่อซ่อนปกปิดความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ แล้วก็จะมีซิการ์ตัวหนึ่งกับไฟแช็ก ทุกครั้งในการสูบซิการ์หรือจุดไฟแช็กจะบ่งบอกถึงความเครียดของผู้หญิงคนนี้ มันจะเหมือนเป็นการระบายถ้าเป็นฉากอารมณ์ของบุหงาก็คือจะสูบบุหรี่ นั่นคือเครียด อาวุธประจำตัวของบุหงาก็คือมีดสั้นค่ะ เขาจะเป็นคนที่ชำนาญในเรื่องของการใช้มีดสั้น นอกจากการค้นหาตัวละครแล้วนะคะ การจะเป็นบุหงาก็ต้องมีไปเรียนคิวบู๊ เบสิกทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นขี่ม้ายิงปืน ฝึกแอคชั่น ทำทุกอย่างเพื่อให้เราอยู่ในSkillของนักสู้นักฆ่า เขาเรียกว่ามูฟเมนท์ของตัวละคร ซึ่งเป็นพื้นฐานในการรีแอ็คของคาแรคเตอร์ในการสู้กับโจร ซึ่งในเบื้องต้นที่กบต้องเรียนรู้เลยก็คือเรียนอาวุธ เรียนการต่อสู้ เรียนขี่ม้า เพื่อให้เราดูชำนาญ ดูเป็นนักฆ่า"
และแน่นอนว่าทุกตัวละครที่ปรากฎขึ้นบนจอภาพยนตร์จะมาพร้อมกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดให้เห็นถึงบทบาทและคาแรคเตอร์ของแต่ละตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยสีสัน และความเข้มข้น ซึ่งจะมีความเชื่อมโยง และสะท้อนมิติให้แต่ละตัวละคร แต่ละความสัมพันธ์ ชัดเจนและถูกขับเน้นให้เข้มข้นขึ้น ส่งผลให้เรื่องราวของขุนพันธ์นอกจากจะเต็มไปด้วยสีสัน และมีมิติที่จับต้องได้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึง ศรัทธา ความดี ที่เป็นแก่นหัวใจของภาพยนตร์ให้ปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านทุกบทบาททุกตัวละคร
"คือเราพยายามให้ตัวละครทุกตัวละครมันมีมิติ ไม่ได้เป็นตัวละครชั้นเดียว มีเหตุมีผลมีที่มาที่ไปว่าทำไมเขาถึงเป็นสิ่งนี้ อย่างแต่ละฉากก็จะมีเรื่องราวในตัวมันเอง ยกตัวอย่างตัวบุหงา ตัวละครที่น้องกบพิมลรัตน์เล่นอย่างที่บอกคือเราได้เห็นในด้านที่เขาเป็นผู้หญิงที่สวยงามมาก แต่เขาเคลือบตัวเองไว้ด้วยเสื้อผ้าที่มันดูเป็นผู้ชายมากๆ หรือการเป็นผู้ร้าย การเป็นโจรในเรื่องมันก็มีเหตุผลว่าทำไมคนผู้นี้ถึงเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น และการเป็นโจรของเขามีเหตุผลอะไร แต่สิ่งที่เขาได้เจอกับขุนพันธ์ และทำให้ขุนพันธ์รับรู้เรื่องของเขา การเลือกฝั่งดีมันก็มีเหตุผลของมันอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นบางทีเราอาจจะเป็นตัวละครที่ยืนอยู่ 2 ฝั่งว่าฉันเป็นตัวละครที่ฉันจะเลือกฝั่งเลวหรือเลือกฝั่งดีหนอ ตัวละครทุกตัวมันจะสะท้อนมิติพวกนี้ออกมาไว้เกือบทุกอันครับ"
14 ก.ค. มาร่วมกันพิสูจน์ว่า แรงกระสุนหรือจะสู้แรงศรัทธาของขุนพันธ์ ทุกโรงภาพยนตร์