กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กทม.
นายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์ ในฐานะโฆษกสภากทม. เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภา กทม. สมัยประชุมสมัย สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 8) ประจำปี 2543 เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณ พ.ศ.2544 รวม 347 รายการ เป็นเงิน 3,113,707,023.27 บาท โดยมติที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาได้ 201 รายการ เป็นเงิน 2,677.65 ล้านบาท
ทั้งนี้ ก่อนที่สภากทม.จะลงมติเห็นชอบนั้น คณะกรรมการวิสามัญพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบให้กทม.ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณ 2544 ซึ่งสภากทม.แต่งตั้งเพื่อกลั่นกรองรายการขอขยายเวลาเบิกเงินเหลื่อมปีได้รายงานต่อสภากทม.ว่า ตามที่คณะกรรมการได้พิจารณารายการเสนอขอขยายเวลาทั้งสิ้น 347 รายการแต่เนื่องจากมีหน่วยงานเบิกเงินแล้วก่อนวันที่ 6 ก.ย 43 จำนวน 51 รายการ จึงเหลือรายการที่ต้องพิจารณาขยายเวลาจำนวน 296 รายการ แต่คณะกรรมการฯเห็นควรให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีงบประมาณ .2544 จำนวน 201 รายการ เป็นเงิน 2,677.65 ล้านบาท แยกเป็นวงเงินที่หน่วยงานขอขยายเวลาเบิกจ่าย ปี 2544 จำนวน 194 รายการ เป็นเงิน 2,655.87 ล้านบาท วงเงินตามที่หน่วยงานขอปรับลดเนื่องจากการดำเนินงานมีผลงานคืบหน้าและมีการเบิกจ่ายเพิ่มเติม จำนวน 7 รายการ เป็นเงิน 22 ล้านบาท
สำหรับรายการที่คณะกรรมการฯ มีมติไม่ให้ความเห็นชอบขอขยายเวลากันเหลื่อมปี จำนวน 95 รายการ เป็นรายการของ 5 หน่วยงาน คือ สำนักสวัสดิการสังคม 2 รายการ คือ โครงการหอศิลปะร่วมสมัย งบปี 40 รวม 7 ล้านบาท และโครงการเดียวกัน งบปี 42 จำนวน 25 ล้านบาท เนื่องจากผู้ว่าฯ มีนโยบายให้เอกชนลงทุน ดังนั้นโครงการนี้จะไม่ใช้งบของกทม. ต่อไป สำนักนโยบายและแผน กทม. 64 รายการ 8,114,750 บาท ในโครงการจัดซื้อเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ เนื่องจากหน่วยงานยังไม่ก่อหนี้ผูกพัน
ในส่วนของสำนักงานเขต รายการที่ถูกตัด คือ เขตบางขุนเทียน งบปี 40 จำนวน 1 รายการ 10,355,000 บาท รายการจัดซื้อที่ดินและทดแทนค่ารื้อถอนอาคาร เนื่องจากจัดซื้อที่ไม่ได้ เพราะเป็นกรณีพิพาทอยู่ในชั้นศาล , เขตบางกะปิ งบปี 42 จำนวน 1 รายการ 3,466,800 บาท เนื่องจากผู้รับเหมาบอกเลิกสัญญากับกทม. และยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ , เขตคันนายาว งบปี 42 จำนวน 1 รายการ 103,938 บาท รายการรื้อถอนอาคาร รายนาม พุฒ เนียมพึ่ง เนื่องจากเรื่องยังอยู่ในชั้นศาลเป็นคดีความกันอยู่
นอกจากนี้ที่ประชุมสภากทม. ยังได้มีมติเห็นชอบญัตติของนายวินัย พุกรักษา และคณะ เรื่อง ขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการจำหน่ายโต๊ะ เก้าอี้ ที่ชำรุดของโรงเรียนในสังกัดกทม. ซึ่งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้อภิปรายว่า ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจำนวนมาก ประสบปัญหามีโต๊ะ เก้าอี้ ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน เนื่องจากไม่ได้มีการนำโต๊ะ เก้าอี้ที่ชำรุดไปจำน่ายตามระเบียบวิธีปฏิบัติ เกี่ยวกับการควบคุมและการจำหน่ายพัสดุแต่อย่างใด กอปรกับการจำหน่ายพัสดุที่หมดสภาพการใช้งานนั้น ผู้ค้าของเก่าต้องการซื้อในราคาที่ต่ำกว่าสภาพมาก จึงเป็นปัญหาให้ไม่สามารถจัดซื้อโต๊ะ เก้าอี้ใหม่ทดแทนได้ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯได้เสนอให้ฝ่ายบริหารแก้ไขระเบียบ ปฏิบัติการจำหน่ายพัสดุให้ผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขต มีอำนาจหน้าที่จำหน่ายได้ โดยไม่ต้องผ่านสำนักการศึกษา ซึ่งเมื่อจำหน่ายแล้วให้รายงานต่อกรุงเทพมหานคร และควรปรับปรุงระเบียบให้สามารถซ่อมแซมโต๊ะ เก้าอี้ที่ชำรุดให้ใช้งานได้อีก โดยไม่ต้องรอจำหน่ายเพียงทางเดียว--จบ--
-นศ-