กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์คอมมิวนิเคชั่นส์
ศูนย์วิจัยอลิอันซ์ คาดตลาดประกันชีวิตไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าภูมิภาค แนะธุรกิจประกันชีวิตจัดสัดส่วนสินทรัพย์และเตรียมมาตรการรับมือภาวะดอกเบี้ยต่ำ
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจกลุ่มอลิอันซ์ เยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวประมาณ 2.6% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.5% ในปี 2558 โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีเติบโตที่ 1.8% ขณะที่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีการขยายตัวในอัตรา 3.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในปี 2558 ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ประจำอลิอันซ์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 3.0% ในปีนี้ เทียบกับ 2.8% ในปี 58 จากปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนในภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่มีการขยายตัวสูง ขณะเดียวกันก็ระบุว่าอุตสาหกรรมประกันชีวิตของไทยจะเผชิญภาวะอัตราเติบโตที่ลดลงของเบี้ยประกันในช่วง 10 ปี โดยจะลดลงไปอยู่ที่ 8.3% ต่อปีไปจนถึงปี 2569 เทียบกับอัตราเติบโต 11.5% ต่อปีในอดีต
ดร.ไมเคิล ไฮส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มอลิอันซ์ ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอลิอันซ์ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกประจำปี 2559 โดยระบุว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกแบ่งออกเป็นสองส่วน ระหว่างกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมกับประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกิจกรรมด้านเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยที่สหรัฐอเมริกา อุปสงค์ภายในประเทศยังคงมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ขณะที่ในกลุ่มประเทศยูโรโซน เศรษฐกิจเริ่มที่จะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมที่แท้จริงคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.7% ซึ่งสูงกว่าในปี 2558 เพียงเล็กน้อย ในส่วนของประเทศเยอรมนีคาดว่าเศรษฐกิจอาจขยายตัวมากกว่า 2% ในปี 2559 จากปัจจัยบวกภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องในยูโรโซนและการบริโภคในภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น
ในปี 2559 นี้ตลาดการเงินจะถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยหลักคือนโยบายด้านการเงินและเศรษฐกิจ ผนวกกับการพัฒนาด้านการเมืองในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศในตลาดเกิดใหม่ ซึ่งในส่วนของนโยบายด้านการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากในปีนี้ ในทางกลับกัน คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะยังคงขยายเวลาในการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำอย่างเช่นในปัจจุบันเอาไว้อีกต่อไป ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของอลิอันซ์ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ที่จะบ่งบอกว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดมาตรการต่างๆ ภายในสิ้นปีนี้
เมื่อมาดูที่กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ ดร.ไฮส์ กล่าวว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชียยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของอลิอันซ์คาดการณ์ว่าการขยายตัวของ จีดีพีจะปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ต่ำกว่า 6.0% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะคิดเป็นเกือบ 60% ของอัตราการเติบโตชองเศรษฐกิจโลกในปีนี้เลยทีเดียว
"การประชุมเชิงนโยบายถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยกำหนดทิศทางและโอกาสการเติบโตเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่มีศักยภาพสูงมาก ควรให้ความสำคัญควรกับการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพในการเติบโต รวมถึงนโยบายในการบริหารความเสี่ยงเพื่อตอบสนองต่อความผันผวนในด้านการเงินที่มีอยู่สูงด้วย" ดร.ไฮส์ กล่าวเสริม
ดร.ไฮส์ ยังระบุอีกว่า สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย แม้ว่าจะยังคงพึ่งพาการส่งออกเป็นปัจจัยหลักอันจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ ทว่ามีปัจจัยหนุนอื่นที่จะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตนั่นก็คือจะมาจากการลงทุนของภาครัฐและภาคการท่องเที่ยวที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยภาพรวมแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ประจำอลิอันซ์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี 2559 นี้ โดยปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 3.0% จาก 2.8% ในปีที่ผ่านมา
"จากปัจจัยลบในด้านเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอส่งผลให้รายได้จากเบี้ยประกันในกลุ่มประกันชีวิตและประกันภัย (ไม่รวมประกันสุขภาพ) เติบโตในอัตราที่ต่ำอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีในปี 2558 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 4.7% แต่เมื่อพิจารณารายจ่ายต่อหัวโดยเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 9,730 บาท กับค่าเบี้ยประกันที่สูงถึง 4.9% ของจีดีพีแล้ว จะพบว่าประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีตลาดประกันชีวิตที่มีการพัฒนาการมากที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย" ดร.ไฮส์ ระบุ
"จากพื้นฐานที่ว่าประเทศไทยมีอัตราการเจาะตลาดในอัตราที่สูงอยู่แล้วในภาคธุรกิจประกันชีวิตผนวกกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นในตลาดประกัน เราจึงคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของเบี้ยประกันในอนาคตจะมีการขยายตัวที่ค่อนข้างลดลงมากกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยจะลดลงไปอยู่ที่ 8.3% ต่อปีไปจนถึงปี 2569 เทียบกับอัตราเติบโต 11.5% ต่อปีในอดีต
"สำหรับสถานการณ์ภาวะดอกเบี้ยต่ำขณะนี้ ดร.ไฮส์ได้ให้ความเห็นว่าธุรกิจประกันชีวิตควรมีการจัดสรรสัดส่วนสินทรัพย์และมองหาการลงทุนสินทรัพย์ที่เป็นทางเลือก เช่น อสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทดแทน รวมทั้งหุ้นให้มีความเหมาะสม นอกจากนั้น อาจจะต้องมีมาตรการเพื่อมารองรับ เช่น ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์แบบออมในระยะยาวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หรือการนำเสนอแบบประกันที่ไม่ต้องใช้เงินทุนมาก เช่น ยูนิตลิงค์ รวมทั้งการนำเสนอประกันแบบคุ้มครองและเพิ่มมูลค่าด้วยการแนบอนุสัญญาเพิ่มเติม" ดร.ไฮส์ กล่าวสรุป