เปิดตัวศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกทม. จุดรวมพลังแผ่นดินต้านยาเสพติด

ข่าวทั่วไป Thursday June 14, 2001 13:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--กทม.
เปิดตัวศูนย์ป้องกันและปราบปราบยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศ.ปส.ก.) ยุคผู้ว่าฯสมัคร ผนึกกำลัง 4 ฝ่าย ประกาศสงครามกับยาเสพติดในกรุงเทพฯ สร้างพลังแผ่นดินร่วมป้องกัน บำบัด และปราบปราม โดยทุกขั้นตอนจะต้องมีชุมชนมาร่วมคิดร่วมทำ กทม. เตรียมรับผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการรักษา มุ่งขยายสถานบำบัดฟื้นฟู “บ้านพิชิตใจ” 4 มุมเมือง
นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงและสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งความหลากหลายของตัวยา พฤติกรรมการเสพ การผลิต การค้า และการจำหน่ายยาเสพติด ปัจจุบันการจำหน่ายยาเสพติดใช้รูปแบบการจำหน่ายโดยใช้การตลาดแบบขายตรง ทำให้จำนวนผู้ติดยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าขณะนี้มียอดผู้ใช้ยาเสพติดในแล้วประมาณ 2 ล้าน 7 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ติดยาเสพติดถึง 3 แสนคน สำหรับสถิติผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลผู้ติดสารเสพติดของคลินิกบำบัดยาเสพติดของกรุงเทพมหานครในปีงบประมาณ 2543 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการถอนพิษยารวม 49,521 ราย ต่อ 856,291 ครั้ง และจำนวนผู้ป่วยรับการรักษาถึง 7,137 คน
เปิดโฉมศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกทม.ยุคผู้ว่าฯสมัคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อไปว่า ทางกรุงเทพมหานครมีแนวนโยบายในการจัดการป้องกัน ปราบปรามและบำบัดรักษา โดยการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ศ.ปส.ก.) ตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา เพื่อเป็นหน่วยงานกลางประสานการทำงานระหว่างกทม. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน และเครือข่ายประชาคมต่างๆ โดยมีหน้าที่กำหนดแนวนโยบายในเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ ผู้ติดยาเสพติด และผนึกกำลังทุกฝ่ายเพื่อลดปัญหาการใช้ยาและสารเสพติดในกทม. สกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติด ป้องกันเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกสถานศึกษาให้ปลอดภัยจากยาเสพติด รู้เท่าทันถึงโทษและภัยของยาเสพติด นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้มีการใช้การกีฬาเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อต้านยาเสพติด ตลอดจนมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ที่สำคัญที่สุดคือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ยอมรับผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคมปฏิบัติต่อผู้ติดยาเสพติดในฐานะผู้ป่วย โดยได้รับการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
4 ฝ่ายร่วมสร้างพลังแผ่นดินต้านยาเสพติด
สำหรับการดำเนินงานของ ศ.ปส.ก. มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ โดยแบ่งภาระหน้าที่ของศูนย์ฯ ออกเป็น 4 ฝ่ายด้วยกัน คือ 1. ฝ่ายอำนวยการ มีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้า และผู้อำนวยการสำนักอนามัยเป็นเลขานุการ ซึ่งจะทำงานประสานกับศูนย์ข้อมูลสถานการณ์ปัญหายาเสพติด 2. ฝ่ายป้องกันยาเสพติด มีผู้อำนวยการสำนักพัฒนาชุมชนเป็นหัวหน้า โดยความร่วมมือของสำนักปลัดกทม. สำนักพัฒนาชุมชน สำนักสวัสดิการสังคม สำนักการศึกษา และสำนักเทศกิจ 3. ฝ่ายบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีผู้อำนวยการสำนักอนามัยเป็นหัวหน้า โดยความร่วมมือของสำนักอนามัย ซึ่งมีคลินิกบำบัดยาเสพติด 15 แห่ง ของศูนย์บริการสาธารณสุขและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด 2 แห่ง คือ บ้านพิชิตใจและสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ ราชดำริ และมีนโยบายจะเปิดให้ครบทั้ง 4 มุมเมือง โดยใช้ระบบชุมชนบำบัด นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักการแพทย์ ซึ่งมีศูนย์ซับน้ำตาผู้ติดยาเสพติด 2 แห่ง ที่วชิรพยาบาลและโรงพยาบาลตากสิน และ 4. ฝ่ายปราบปรามยาเสพติด มีผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวหน้า
นอกจากนี้ทั้ง 4 ฝ่าย ยังทำงานรับผิดชอบประสานงานกับเขตทั้ง 50 เขตด้วย เพื่อประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดด้วยการสร้างภูมิพลังแผ่นดิน ปลุกจิตสำนึกของประชาชน สร้างชุมชนในเข้มแข็ง ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ทั้งนี้ปัจจุบันศ.ปส.ก.ตั้งอยู่ที่อาคารสำนักงานเขตราชเทวี ชั้น 7
คนกรุง 3 แสนตกเป็นเหยื่อยาบ้า
ด้าน นพ.ปิยเมธิ ยอดเณร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของสารเสพติดประเภทยาบ้า(Amphetamine) ว่า ปัจจุบันในเขตกทม. มีผู้ที่เคยใช้หรือเสพยาบ้าอยู่ประมาณ 3 แสนคน และมีผู้ติดยาบ้าจริงๆ อยู่ถึง 3 หมื่นคน ดังนั้นกทม. จึงต้องเร่งดำเนินการหาวิธีบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้รักษาผู้ติดยาบ้าเหล่านี้ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นจะขจัดปัญหายาเสพติดให้หมดสิ้นไปซึ่งกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการป้องกัน บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ จึงให้ดำเนินการในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (WORKSHOP) ประกอบด้วย ผู้บริหารกทม. รองปลัดกทม. ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง ผู้อำนวยการเขต ประธานกลุ่มเขต หน่วยงานภายนอก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ส. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมประชาสงเคราะห์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สภาสถาบันราชภัฏ รวมถึงองค์กรมูลนิธิ สมาคม กลุ่มอาสาสมัคร ประธานชุมชน และเครือข่ายประชาคมเมืองป้องกันยาเสพติดกรุงเทพมหานคร สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้อง
ข้อสรุป Workshop ชี้ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไข
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการได้รับทราบปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน โดยผู้แทนหน่วยงานและประชาชนที่เข้าร่วมประชุม ได้ข้อสรุปว่า การจะดำเนินงานด้านยาเสพติดให้ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน ชุมชนควรจะมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทั้งด้านการจัดหาข้อมูล การวางแผน การตัดสินใจ การดำเนินงาน การดำเนินการ และการติดตามประเมินผล โดยมีหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนและผลักดันให้แผนการดำเนินงานของชุมชนบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย รวมถึงต้องประสานงานสนับสนุนในส่วนที่ชุมชนยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินการได้ อาทิ การสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร การให้ความรู้ การผลักดันและแก้ไขระเบียบกฎหมายให้เอื้อต่อการทำงานของชุมชน และได้ดำเนินการในด้านการบำบัด รักษา ฟื้นฟูสภาพ โดยมีการรับบริการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดในรูปแบบผู้ป่วย (Matrix IOP) ในทุกศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกบำบัดยาเสพติด 15 แห่ง และโรงพยาบาล 2 แห่ง ของกรุงเทพมหานคร
เผย 2 วิธีบำบัดรักษาได้ผลเป็นเลิศ
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันนี้มีวิธีการบำบัดรักษาสารเสพติด 2 วิธีที่ได้ผลดี คือ แบบจิตสังคมบำบัด (Matrix IOP or psychosocial therapy) เป็นโปรแกรมการรักษาผู้ติดยาเสพติดแบบผู้ป่วยนอกที่ผู้เชี่ยวชาญชาวสหรัฐอเมริกาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1984 ซึ่งในระยะแรกใช้รักษาผู้ที่ติดสารโคเคนและยาบ้า แต่ขณะนี้พัฒนาจนสามารถใช้รักษาสารเสพติดได้ทุกชนิด มีประสิทธิภาพสูงถึง 70% (วิธีอื่นมีอัตราการกลับไปเสพซ้ำสูงถึง 85-90%) และค่าใช่จ่ายต่ำเพราะไม่ต้องใช้ยารักษาเพียงแต่ใช้จิตสังคมบำบัด โดยความร่วมมือของผู้ปกครองและครอบครัวของผู้ติดยา ไม่ต้องรับไว้ในสถานพยาบาล สามารถไป-กลับแบบผู้ป่วยนอก ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือน ขณะนี้สำนักอนามัย กทม. กำลังจัดการฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยาที่อยู่ตามศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่งให้มีทักษะในการบำบัดรักษาแบบจิตสังคมบำบัด ซึ่งคาดว่าสามารถจะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมนี้
มุ่งขยายบ้านพิชิตใจบำบัดผู้ติดยา 4 มุมเมือง
อย่างไรก็ตาม หากการรักษาแบบจิตสังคมบำบัดไม่ประสบผลสำเร็จ จะให้วิธีการรักษาแบบชุมชนบำบัด (Therapeutic Community หรือ T.C.) เป็นโปรแกรมการรักษาผู้ติดสารเสพติดแบบผู้ป่วยใน เหมาะสำหรับผู้ติดสารเสพติดประเภทเฮโรอิน หรือยาบ้า ที่กลับไปเสพติดซ้ำซาก จึงต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยรับไว้ในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อต้องการให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชีวิตประจำวันโดยอาศัยแบบชุมชนบำบัด ซึ่งเดิมจะต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น ประมาณ 1 ปี แต่ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงหลักสูตรดังกล่าวเหลือเพียง 6-9 เดือน จึงทำให้ผู้ติดสารเสพติดกลับสู่สังคมตามปกติได้
ขณะนี้สำนักอนามัย กทม. มีสถานฟื้นฟูสมรรถภาพที่เขตประเวศเรียกว่า “บ้านพิชิตใจ” สามารถรับผู้ป่วยได้ครั้งละ 50 คน และหากอาคารใหม่ที่กำลังก่อสร้างเสร็จจะรับได้ถึงครั้งละ 100 คน ในขณะเดียวกันผู้บริหารกทม. มีนโยบายที่จะขยายสถานฟื้นฟูสมรรถภาพแบบนี้ออกไป 4 มุมเมือง เพื่อรองรับผู้ติดสารเสพติดที่มากขึ้น วิธีนี้มีประสิทธิภาพถึง 70% เช่นกัน--จบ--
-นห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ