กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--กทม.
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 43 เวลา 11.00 น. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร ดร.ธารินทร์ สงวนเสริมศรี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวเรื่อง “สร้างความหวัง สร้างโอกาส เพื่อเด็กเร่ร่อน” โดยมี นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม นางสาวณัฐกานต์ สำเนียงล้ำ ครูอาสาสมัครพิทักษ์เด็ก ร่วมแถลงข่าว รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาเด็กเร่ร่อน ขาดโอกาสทางการศึกษา ประพฤติตนในทางที่ผิด และใช้สารเสพติด ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกมากมาย จึงได้มอบนโยบายให้มีการแก้ไขปัญหาและดูแลเด็กเร่ร่อนอย่างจริงจัง กรุงเทพมหานครโดยกองสังคมสงเคราะห์ สำนักสวัสดิการสังคม จึงมีเป้าหมายที่จะจัดสร้าง “ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก” 5 แห่งทั่วกรุงเทพมหานคร คือ บริเวณสวนรถไฟ, สวนสราญรมย์, สวนสันติภาพ, สวนป่าเชิงสะพานพระปกเกล้าฯ ฝั่งธนบุรี และสวนธนบุรีรมย์ โดยทุกแห่งอาสาสมัครพิทักษ์เด็กที่ได้ผ่านการอบรมแล้วจะคอยให้คำปรึกษา แนะนำในการดำรงชีวิต ให้การศึกษา ให้การดูแลและจัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เด็กเร่ร่อน โครงการจัดสร้าง “ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างโอกาสให้แก่เด็ก ให้ความรัก ความอบอุ่น เอื้ออาทรแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นสถานที่พิจารณาให้การสงเคราะห์ ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้บริการแก่เด็กเร่ร่อนในด้านความรู้ นันทนาการ กีฬา สุขภาพอนามัย ที่พักผ่อนชั่วคราว แหล่งข้อมูลข่าวสารในด้านการศึกษา การฝึกอาชีพ หรือแหล่งอาชีพต่างๆ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการรวมกลุ่มจัดกิจกรรม จัดนิทรรศการ แสดงผลงานของเด็กเร่ร่อน เพื่อพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมตามสมควรกับวัย ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ ครูอาสาสอน อาสาสมัครพิทักษ์เด็ก และผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กเร่ร่อนทั้งภาครัฐและเอกชน “ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก” ทั้ง 5 แห่งจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือน พ.ย. 43 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวที่สวนลุมพินี ศูนย์ฯเหล่านี้จะเปิดเป็นสถานที่ให้ความรู้และทำกิจกรรมนันทนาการแก่เด็กเร่ร่อนทุกวัน ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น.
นายอนันต์ ศิริภัสราภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการสังคม กล่าวด้วยว่า โครงการจัดสร้าง “ศูนย์สร้างโอกาสเด็ก” นี้ เป็นโครงการที่จะช่วยให้เด็กเร่ร่อนไม่หลีกหนีสังคมอีกต่อไป ทำให้เจ้าหน้าที่และครูอาสาสมัครสามารถให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก ให้เด็กเร่ร่อนมีโอกาสได้รับประสบการณ์ในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ขณะนี้มีครูอาสาสมัครพิทักษ์เด็กที่ทำงานช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนโดยไม่ได้ค่าตอบแทน อยู่ประมาณ 700 คน ผ่านการอบรมและปฏิบัติงานแล้วกว่า 120 คน ครูเหล่านี้จะผลัดกันไปประจำอยู่ที่ศูนย์ต่างๆ เพื่อช่วยกันกล่อมเกลาพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเด็กเร่ร่อนให้สามารถอยู่ร่วมในสังคมได้ ในขั้นต่อไป เมื่อเด็กเหล่านี้สมัครใจที่จะรับการศึกษา ฝึกอบรมอาชีพ หรือประกอบอาชีพ กรุงเทพมหานครก็จะจัดให้เด็กเหล่านี้เข้ารับการอบรมพัฒนาพฤติกรรมที่ “บ้านสร้างโอกาสเด็ก” เป็นเวลา 30-45 วัน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีคุณภาพต่อไป--จบ--
-นศ-