กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดทั้งโลกการเงินจะจับตาไปที่ผล Brexit ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ และมองว่าทองคำ เงินปอนด์ และเงินเยน จะมีความผันผวนสูงที่สุดในช่วงประกาศผล ส่วนค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อเนื่องจากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ทั้งในกรณี Brexit และ Bremain
ในสัปดาห์นี้ไม่ว่าจะเป็นประเด็นอะไรในตลาดเงินก็จำต้องหลบให้กับการลงประชามติของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ หรือ UK) ว่าจะยัง "คง" หรือจะ "ออก" จากสถานภาพเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ต่อไปหรือไม่ ในวันที่ 23 มิถุนายน
การลงประชามติของสหราชอาณาจักรในครั้งนี้ถูกเรียกกันในโลกการเงินว่า "Brexit" (มาจาก British รวมกับ Exit) กลายมาเป็นประเด็นสำคัญในตลาดการเงินที่ใหญ่ไม่แพ้การโหวตว่ากรีซจะ "ออก" จากสถานภาพเป็นสมาชิกของอียู (Grexit) ในช่วงปีที่แล้ว หลังโพลในอังกฤษชี้ว่ามีความเป็นไปได้แทบจะเท่ากันระหว่างโอกาสที่อังกฤษจะ "อยู่" หรือจะ "ออก" จากอียู
ศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปัญหา Brexit เริ่มเข้ามามีบทบาทกับตลาดการเงินและทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากที่โพลในอังกฤษระบุว่า ผู้สนับสนุนฝั่ง Brexit เพิ่มขึ้นจนเริ่มที่จะมากกว่าฝั่ง "Bremain" (ฝั่งที่สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรยังคงสถานะสมาชิกสหภาพยุโรปต่อ) ส่งผลให้สินทรัพย์ในตลาดการเงินโลก ปรับตัวผันผวนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา อาทิเช่น ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 20% มาที่ระดับ 1,282 เหรียญต่อออนซ์ ขณะที่ค่าเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นราว 15% มาอยู่ที่ระดับ 104 เยนต่อดอลลาร์จากปลายปีมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมองว่าตลาดการเงินมีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องการที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ค่าเงินปอนด์ก็ปรับตัวลดลงถึง 5% มาอยู่ที่ระดับ 1.41 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำว่านักลงทุนในตลาดการเงินมีความกังวลกับปัญหานี้เป็นอย่างมาก
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าการทำประชามติ Brexit จะส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวน ทั้งก่อนและหลังจากทราบผลโหวตในสัปดาห์นี้ โดยมองว่าทองคำ ค่าเงินปอนด์ และค่าเงินเยน ที่ราคาปรับตัวตามผลโหวตในช่วงก่อนหน้านี้ มีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวแรง รับผลที่จะออกมา โดยจากการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวของผลโหวตเปรียบเทียบกับการแกว่งตัวของราคาสินทรัพย์ต่าง ๆ คาดว่าค่าเงินปอนด์มีโอกาสอ่อนค่าได้อีกในกรณี "Brexit" ราว 5% ทันทีที่ประกาศผล ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐและเยนญี่ปุ่นจะเป็นสกุลเงินที่นักลงทุนเลือกที่จะพักเงินไว้ในกรณีนี้ แต่ในกรณี "Bremain" คาดว่าค่าเงินปอนด์มีโอกาสบวกกลับราว 4% เช่นเดียวกันกับค่าเงินยูโร ส่วนทองคำมีโอกาสปรับตัวลงราว 5-7% เนื่องจากนักลงทุนจะคลายความกังวลในระยะสั้น
ด้านค่าเงินบาทถึงแม้ว่าจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้โดยตรง แต่ในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทก็แกว่งตัวแรงจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุน โดยพบว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารหนี้และหุ้นไทยเพื่อกระจายความเสี่ยง ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อผลโพลระบุว่าฝ่าย Brexit เริ่มออกนำ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนต่างชาติจะทยอยลดความเสี่ยงในตลาดไทยลงจากเหตุการณ์ Brexit เนื่องจากจำเป็นต้องแบกรับความเสี่ยงที่มากขึ้นจากสกุลเงินหลักอื่น ๆ และจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากแนวโน้มดังกล่าว โดยในกรณี "Brexit" คาดว่าค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงราว 2.0% ขณะที่ในกรณี "Bremain" คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าเพียง 0.5%
ทั้งนี้ผลจากการวิเคราะห์เป็นเพียงมุมมองจากการคำนวนตามหลักสถิติ ในตลาดการเงินคงเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาทั้งผลลัพธ์และผลกระทบที่จะตามมา และในปีนี้ยังมีความเสี่ยงอีกมากนอกจาก Brexit เช่น การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทยในช่วงกลางปี หรือการเลือกตั้งในสหรัฐฯในช่วงปลายปี ผู้ประกอบการและนักลงทุนไทยจึงควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและเตรียมตัวรับกับตลาดที่จะยิ่งผันผวนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี