กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--กทม.
สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชี้เหตุยุงลายเพิ่มจำนวน ไข้เลือดออกขยายพื้นที่แพร่ระบาด ข้อมูลระบุชุมชนเขตกรุงเทพฯ เหนือและตะวันออกควรเร่งกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันไข้เลือดออกระบาดหนัก
นพ.กฤษณ์ หิรัญรัศ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นที่คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะมีการระบาดรุนแรงกว่าปีก่อน ๆ ไข้เลือดออกสามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ในชุมชนที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดขึ้นถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้มาก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการระบาดและการขยายพื้นที่เกิดโรคออกไปอย่างกว้างขวางอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน คือ มียุงลายเกิดมากขึ้นตามการเพิ่มของภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้น เช่น กระป๋องน้ำอัดลม จานรองกระถางต้นไม้ เป็นต้น แต่การกำจัดยุงลายที่เป็นตัวเต็มวัยทำได้ยาก เพราะยุงบินหนีหรือเคลื่อนย้ายที่อยู่ไปได้ง่าย ทั้งการซื้อสารเคมีกำจัดยุงก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง และถ้าใช้อย่างไม่เหมาะสมอาจเป็นโทษต่อคน สัตว์เลี้ยงและสิ่งแวดล้อม ทั้งอาจก่อให้เกิดการดื้อต่อสารเคมีได้ ดังนั้น การกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีกว่า คือ การควบคุมยุงลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออก
ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวต่อไปว่า จากการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในปีนี้แสดงให้เห็นอัตราป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือนแรกของปี (ม.ค. — เม.ย.44) กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก แล้วทั้งสิ้น 3,157 ราย หรือ คิดเป็นกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนผู้ป่วยรวมของปีที่แล้วทั้งปี ซึ่งพื้นที่ที่มีจำนวนผู้ป่วยมาก 10 อันดับแรกของเดือนเม.ย. คือ เขตประเวศ บางซื่อ บางเขน จตุจักร คลองสามวา มีนบุรี ธนบุรี หลักสี่ ห้วยขวาง และสายไหม ส่วนยอดรวมสูงสุด 4 เดือน ได้แก่ เขตหลักสี่ จอมทอง บางซื่อ สายไหม จตุจักร ธนบุรี ดินแดง บางเขน บึงกุ่ม และประเวศ สำนักอนามัยจึงขอความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงดังกล่าว ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายและตัวโม่งที่อยู่ในภาชนะน้ำขังต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ภายในและรอบ ๆ บ้าน ซึ่งถ้าชุมชนใดต้องการจัดกิจกรรมกวาดล้างลูกน้ำยุงลาย สามารถขอรับการสนับสนุนทรายอะเบท สำหรับใส่น้ำป้องกันเกิดการลูกน้ำได้ฟรี หรือขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ไข้เลือดออกเฉลิมพระเกียรติ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โทร.245-6466--จบ--
-นห-