กรุงเทพฯ--20 มิ.ย.--ดับเบิ้ล ดี มีเดีย
มิชลินเสริมฝันศิลปินน้อยผู้ด้อยโอกาสจัดประกวดวาดภาพสดชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
"ผมเรียนศิลปะครั้งแรกจากแม่และพ่อ พวกเขารับจ้างถอนมันสำปะหลังเป็นอาชีพ เสาร์อาทิตย์ผมจะไปทำงานช่วยพ่อ แม่ แต่พอพักเที่ยงมันว่างครับ ผมเลยนั่งวาดดินเล่นๆ เห็นอะไรตรงหน้าก็วาดออกไป ภาพแรกก็วาดรูปแม่กับพ่อแหละครับ แต่ถ้าวาดไม่สวยพ่อก็มาลบ แม่ก็มาดู ผมก็ฝึกมาเรื่อยๆและอยากจะวาดภาพไปตลอดชีวิต " ด.ช. อาชิตะ แก้วกำกง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนไทยสามัคคี อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว กล่าวถึงที่มาของการเริ่มต้นเป็นศิลปินน้อย ภายหลังได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดวาดภาพสดชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1-3 ) ในหัวข้อ "วาดฝัน ปั่นสุข เที่ยวสนุกทั่วไทย" ภายใต้โครงการศิลปะเด็กมิชลิน ครั้งที่ 19 ปี 2559 จัดขึ้นโดยความร่วมมือของ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด และ ศูนย์ศิลป์สิรินธร จังหวัดเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เยาวชนไทยได้พัฒนาศักยภาพในงานศิลปะ และปลูกจิตสำนึกเยาวชนด้านการขับขี่ปลอดภัยผ่านภาพวาด โดยครั้งนี้ยังมีเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยกันอีก 2 คน คือ ระดับมัธยมปีที่ 1-3 ด.ช.ธนาธิป นาฉลอง โรงเรียนแก้งคร้อวิทยา จ.ชัยภูมิ และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ด.ช.ธีร์ พิทักษ์ศฤงคาร โรงเรียนชุมชนวังสะพุง จ.เลย
สำหรับอาชิตะแล้ว รางวัลชนะเลิศครั้งนี้ไม่ใช่รางวัลแรก แต่เขายังเคยได้รับรางวัลการประกวดวาดภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วหลายรางวัลตั้งแต่อยู่ในชั้นอนุบาล อาชิตะ ยอมรับว่าโจทย์วาดภาพครั้งนี้ค่อนข้างยาก เพราะมีเรื่องการเดินทางเข้ามาเกี่ยวข้อง เขานึกไม่ออกว่าต้องวาดแบบใด เนื่องจากมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไม่บ่อยเพราะฐานะทางบ้านยากจน อาชิตะจึงเริ่มต้นด้วยการมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งของโลกใบกลมๆ แห่งนี้ แต่ประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากมายที่เดินทางมาเที่ยวทั้งทะเล ภูเขา และวัดวาอารามซึ่งส่วนมากนักท่องเที่ยวจะเน้นการขับรถยนต์ แต่ในบางพื้นที่การท่องเที่ยวนั้นมีโรงเรียนตั้งอยู่ เด็กๆ ในบริเวณนั้นบางคนเดิน บางคนปั่นจักรยานไปโรงเรียน ถ้าหากรถยนต์วิ่งกันมากมาย เด็กๆ จะเสี่ยงได้รับอันตราย อาชิตะจึงวาดภาพความฝันว่าวันหนึ่งประเทศไทยมีการสนับสนุนการปั่นจักรยานอย่างจริงจัง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีความสุขกับการปั่นจักรยาน ซึ่งพอหลายคนทำเหมือนกัน ท้องฟ้า อากาศในประเทศก็จะสดใส แม่น้ำ และสิ่งแวดล้อมจะดี นก ปลาและสัตว์นาๆ ชนิดจะมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มีบรรยากาศที่สวยงาม ชาวต่างชาติที่มาเที่ยวจะประทับใจ
"โชคดีของผมที่ได้ไปรับรางวัลวาดภาพที่เกาหลี ผมก็เห็นเขาเดิน เขาปั่นจักรยานกันเยอะ แต่คนไทยไม่ค่อยเดิน แต่มีปั่นจักรยานบ้าง ผมจึงฝันอยากให้ประเทศไทยได้เดิน ได้ปั่นกันเยอะๆ อุบัติเหตุก็จะลดลง และที่ผมวาดนั้น ผมเน้นที่บรรยากาศกรุงเทพฯ ผมไปไม่บ่อย แต่ผมเห็นแล้วผมกลัวว่ารถชน ผมจึงฝันให้กรุงเทพฯ มีถนนที่ปลอดภัยกับนักปั่น" อาชิตะ กล่าวถึงแนวคิดง่ายๆ ที่สื่อสารผ่านภาพวาด
อาชิตะ เล่าความฝันในอนาคตด้วยว่า หากเลือกได้ก็อยากเป็นนักวาดภาพในอุโบสถ แต่ถ้าไม่ได้มีอาชีพวาดภาพก็จะวาดเป็นงานยามว่างต่อไปและจะวาดไปตลอดชีวิตไม่ว่าโตขึ้นจะได้ทำงานอะไรก็ตาม ทั้งนี้สำหรับเงินรางวัลที่ได้มาตนจะนำไปมอบให้ครูที่ปรึกษาเพื่อจัดสรรแบ่งปันทุนสำหรับซื้ออุปกรณ์การเรียน การสอนวิชาศิลปะเพิ่มเติม และเพื่อนทุกคนจะได้มีอุปกรณ์การเรียนที่ดี มีคุณภาพ
เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับโรงเรียนบ้านไทยสามัคคี ที่ส่งนักเรียนเข้าประกวดทั้งหมด 9 คน และนักเรียนทั้งหมดได้รับรางวัลไปครองทุกคน หนึ่งในนั้นคือเด็กหญิงณัฎฐา แก้วกำกง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อนร่วมชั้นของอาชิตะ ที่สามารถคว้ารางวัลดีเด่นไปครอบครอง ภายใต้ผลงานวาดภาพส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนสถานและวัฒนธรรมในภาคอีสาน โดยเน้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดเลย ที่มีผีตาโขนเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดมาเป็นตัวละครนักปั่นในประเทศไทย ร่วมกับเด็กๆ
"ดีใจมากค่ะที่โรงเรียนเราได้รับรางวัลหมดทุกคน พวกเราทำเต็มที่และเชื่อว่าเพื่อนๆ จากโรงเรียนอื่นก็ทำเต็มที่เหมือนกัน หนูอยากขอบคุณคุณครูและผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสพวกเราได้วาดภาพครั้งนี้ เขาสอนเราหลายๆ อย่างๆ และขอบคุณเพื่อนๆ จาก โรงเรียนอื่นที่แบ่งปันสีให้หนูใช้ช่วงที่สีเราหัก ทำให้วาดภาพทันเวลา เมื่อวานช่วงที่เรากำลังวาดภาพอยู่ หนูวาดเสร็จมาส่งงานเห็นเพื่อนๆ โรงเรียนอื่นเขาก็วาดออกมาสวยมาก บางคนก็ได้รางวัลเหมือนหนู บางคนก็ไม่ได้ แต่เราได้รู้จักกัน หนูว่าการวาดภาพมันสนุกมากๆ และอยากชวนทุกคนมาวาดภาพยามว่าง" ณัฎฐา กล่าว
ครูสิทธิชัย จันทร์คล้าย ครูสอนศิลปะโรงเรียนบ้านไทยสามัคคี กล่าวว่า สิ่งที่ตนกังวลสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถด้านศิลปะ คือ ขาดความมั่นใจในตัวเองเพราะเด็กๆ กลุ่มนี้ส่วนมากไม่กล้าแสดงออก แต่เมื่อเขาได้รับรางวัลและได้มีคนชื่นชม พวกเขาจะมีความมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับผลการแข่งขันครั้งนี้ถือว่าเป็นผลดีเกินความคาดหมาย ทำให้เด็กๆ มีกำลังใจในการฝึกทักษะศิลปะมากขึ้น
"ผมขับรถมาไกลกว่า 500 กิโลเมตร ตั้งใจไว้ว่าถ้าเด็กไม่ได้รางวัลก็แค่พาเขามาเปิดหู เปิดตาเพราะโลกสมัยนี้มันหมุนเร็วขึ้น หลายคนถามหาสมาร์ทโฟน หลายคนต้องอยู่ด้วยอินเตอร์เน็ต แต่เด็กๆ เหล่านี้บ้านไม่รวย พวกเขาเข้าถึงอะไรแบบนั้นลำบาก เทคโนโลยีที่สอนในโรงเรียน บางครั้งสร้างความอยากได้ อยากมีให้เขา เอะอะเด็กจะต้องเปิดอินเตอร์เน็ต แต่ถ้าพวกเขาได้ใช้เวลาไปกับศิลปะช้าๆ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะประเภทไหน สมาธิของเขาจะดีขั้นและช่วยลดเวลาการเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น ผมเลยคิดว่า อย่างน้อยถ้าไม่ได้อะไรเลย ก็พาเขามาดูจังหวัดเลย มารู้จักความแตกต่างเพื่อไปพัฒนาไอเดียในการสร้างสรรค์งานต่อไป" ครูสิทธิชัย กล่าว
ครูสิทธิชัย กล่าวด้วยว่า ทุนการศึกษาที่ได้ไปทางโรงเรียนไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ แต่จะนำไปเฉลี่ยแบ่งปันให้กับเด็กๆ สมาชิกในชมรมศิลปะ ที่ยังไม่มีโอกาสได้ร่วมแข่งขัน โดยส่วนแบ่งของเจ้าของผลงานนั้นจะมากกว่ารายอื่น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวครูในโรงเรียนรับทราบและนักเรียนเต็มใจจะแบ่งปันให้สมาชิกผู้มีฝันอยากเป็นศิลปินน้อยทั้ง 30 คนที่กำลังศึกษาอยู่ และอีกส่วนจะจัดสรรสำหรับการเดินทางเพื่ออบรมวิชาการและฝึกปฏิบัติด้านศิลปะ เพื่อเพิ่มประสบการณ์แก่นักเรียนทุกคนที่มีความสนใจด้านศิลป์
ด้านครูสังคม ทองมี ประธานผู้ก่อตั้งศูนย์ศิลป์สิรินธรและคณะกรรมการตัดสิน เล่าว่า โครงการประกวดภาพวาดสดกับมิชลิน เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กด้อยโอกาสได้เข้ามาแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างเต็มที่ โดยทางศูนย์ให้ความร่วมมือมาตลอดระยะเวลา 19 ปี ตั้งแต่ปี 2540 และพบว่าแต่ละปีมีนักเรียนเข้าร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยส่วนมากเป็นเด็กในโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่ทุนทรัพย์การศึกษามีน้อย อีกทั้งฐานะทางบ้านยากจน
"ถ้าไม่มีพื้นที่แบบนี้ให้เด็กบ้าง โลกศิลปะของเด็กจะแคบ จากผลงานของเด็กหลายๆ คนที่ผมเห็นเขามีความคิดซับซ้อนมากเขามองอะไรที่เป็นระบบ มีไอเดียดี ถ่ายทอดออกมาได้ลึกซึ้งทั้งที่ไม่เคยไปรู้จักสถานที่จริงๆ เหล่านั้นเลย บางคนวาดภาพภาคใต้ แต่พอถามว่าเคยไปไหมภาคใต้เขาก็ไม่เคย แต่เขาก็มีฝันอยากไปนั่งวาดวิวทะเลที่ใต้ วาดการแสดงหนังตะลุง คือถ้าเด็กได้มีโอกาสตรงนี้แล้วมีผู้ใหญ่ส่งเสริมเขาก็ไปไกลได้ เขารอแค่ช่วงไหนจะมีคนเห็นผลงานเขา ผมว่าโครงการแบบนี้ดีให้เด็กได้มีโอกาสแสดงความสามารถที่เขามี แล้วต่อมาก็มีคนมองเห็นเขาก็ส่งเรียนต่อบ้าง รับทุนเพิ่มบ้าง ผมว่าแค่นั้นก็ช่วยเด็กๆ กลุ่มด้อยโอกาสได้เยี่ยมแล้ว"
เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามมิชลิน จำกัด กล่าวว่า การให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่มิชลินมุ่งมั่นพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อการสัญจรอย่างยั่งยืน ภายใต้สโลแกน "ขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ดีกว่า" โดยผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนตลอดจนองค์กรและสถาบันการศึกษา ดำเนินกิจกรรมหลายรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปะและตั้งโจทย์เป็น "วาดฝัน ปั่นสุข เที่ยวสนุกทั่วไทย" เพราะมองว่า ศิลปะคือการสื่อสารสากลให้เด็กได้สะท้อนตัวตนของตนเองขึ้นมาว่ามีฝันอย่างไรบ้าง ชื่นชอบสังคมแบบไหน และมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งเด็กๆ ก็ตีโจทย์แตกว่าปั่นจักรยานช่วยลดโลกร้อน ลดมลพิษจากคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
"เด็กๆ บางคนมีความสามารถแต่พูด เขียนไม่เก่ง เช่น เด็กที่ประกวดครั้งนี้เขาเล่าไม่ได้นะว่า จังหวัดเขามีอะไรบ้าง แต่พอได้ลองวาดภาพออกมาแล้วเขาสะท้อนเอกลักษณ์จังหวัดเขาได้ดี นำเสนอมุมมองความสวยงามของประเทศทั้ง 4 ภาค พอเป็นแบบนี้แล้วเราก็จะอ่านความคิดเด็กได้ เราในฐานะผู้ใหญ่สามารถได้รู้สิ่งที่เขาคิดและบางอย่างเราเองลืมคิดไปด้วยซ้ำ นี่คือประโยชน์หลักๆ ส่วนรางวัลที่ได้เป็นแค่ส่วนเสริมกำลังใจ เราหวังว่าชื่อเสียงที่เขาได้รับครั้งนี้ ชัยชนะของเด็กทุกคนที่ได้รางวัล คือ การประกาศความสามารถของเขา และหวังว่าเขาจะเป็นต้นกล้าสำคัญที่ช่วยออกแบบสังคมได้ อย่างน้อยก็ประเด็นสิ่งแวดล้อมและประเด็นท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รางวัล ก็ถือว่าเปิดประสบการณ์และต่อยอดองค์ความรู้ไป นี่คือสิ่งที่มิชลินตระหนัก เราอยากให้การพัฒนาทุกอย่างยั่งยืนและหลากหลายและเน้นกลุ่มเด็กที่ด้อยโอกาสได้แสดงออกอย่างเต็มที่ " เสกสรรค์กล่าวทิ้งท้ายถึงเจตนารมณ์ของบริษัทฯ //