กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
แสงสว่าง เป็นอีกปัจจัยในการสร้างบรรยากาศของบ้าน ดังนั้นในการเลือกโคมไฟที่นำมาใช้ตกแต่งบ้าน จึงควรเลือกให้เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันโคมไฟมีความหลากหลาย อีกสิ่งสำคัญในการเลือกโคมไฟให้เหมาะกับบ้าน คือ ความสวยงาม เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่รักในการตกแต่งบ้าน 2 นักศึกษาสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้ออกแบบโคมไฟใส่ไอเดียผ่านเทคนิค ผลงาน "โคมไฟจากมุ้งลวด ด้วยเทคนิคการปักแผ่นเฟรม"ของนางสาวพรปวีณ์ วัฒนปรีชานนท์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ และ ผลงาน "โคมไฟติดผนังลวดลายผ้าจกไท-ยวน" ของนางสาวใยแก้ว เกตุมณี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นโคมไฟใส่ไอเดีย ที่มีชิ้นเดียวในโลก
นางสาวพรปวีณ์ วัฒนปรีชานนท์ เจ้าผลงานโคมไฟจากมุ้งลวด ด้วยเทคนิคการปักแผ่นเฟรม เล่าว่า เป็นโคมไฟแขวน ลักษณะเป็นโคมระย้า หรือแชนเดอเลียร์ ได้รับแรงบันดาลใจมากจาก Cape Gooseberry โดยนำมาลดทอนรายละเอียด บิดเบือน จากภาพต้นแบบ เพื่อเน้นรูปทรงและลวดลายให้หรูหราสวยงาม นำเศษมุ้งลวด เหลือใช้มาเป็นวัสดุในการผลิตนำมาปักด้วยไหมขนแกะ ในการนำเศษมุ้งลวดมาใช้เป็นการลดขยะนำเศษวัสดุมาทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า กลายเป็นชุดโคมไฟจากมุ้งลวด ด้วยเทคนิคการปักแผ่นเฟรม มีโคมไฟระย้าจำนวน 1 ชิ้น ซึ่งมีดวงโคม จำนวน 12 ดวง มีความกว้าง 100 เซนติเมตร ความสูง 109 เซนติเมตร มีโครงสร้างเป็นเหล็ก สีสันที่ใช้ตรงโคมไฟเป็นสีขาว สีส้มอ่อน และสีส้มเข้ม โทนสีส้มเป็นสีแห่งความเบิกบาน สดใส อบอุ่น ส่วนสีที่ใช้ตรง โครงสร้างเป็นสีดำ เพื่อเน้นตรงโคมไฟให้ดูเด่น
ทางด้าน นางสาวใยแก้ว เกตุมณี เจ้าของผลงาน โคมไฟติดผนังลวดลายผ้าจกไท-ยวน เล่าว่า โคมไฟติดผนังลวดลายผ้าจกไท-ยวน ลักษณะเป็นโคมไฟเซรามิกติดผนังลาย ผ้าจกไท-ยวนจังหวัดราชบุรี เนื่องจากตนเองมีความสนใจผ้าจกไท-ยวน จังหวัดราชบุรี เพราะว่ามีความสวยงามเพื่อเป็นการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีลวดลายของผ้าจกไท-ยวน จึงได้นำลวดลายมาประดับตกแต่งบนผลิตภัณฑ์โคมไฟเซรามิกสำหรับติดผนังให้เหมาะสมและสวยงาม ใช้ตกแต่งภายในอาคารบ้านเรือน จึงได้ออกแบบและผลิตโคมไฟติดผนังเซรามิก จำนวน 1 ชุด ประกอบไปด้วยโคมไฟเซรามิก 8 ชิ้นมี 8 ลาย ประกอบด้วยลายกาบกว้าง ลายกาบซ้อนหัก ลายกาบดอกแก้ว ลายดอกเซีย ลายโก้งเก้ง ลายโก้งเก้งซ้อนเซีย ลายหน้าหมอน ลายหักนกคู่ ขึ้นรูปด้วยวิธีการทำพิมพ์และการหล่อ โดยใช้เนื้อดินพอร์ชเลน ตกแต่งผลิตภัณฑ์วิธีการขูดขีดลาย และใส่เศษแก้วลงในผลิตภัณฑ์ก่อนนำไปเคลือบด้วยน้ำเคลือบพอร์ชเลน จากนั้นนำไปเผาที่ อุณหภูมิ 1,230 องศาเซลเซียส
2 ไอเดียผลงานนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี หนึ่งไอเดียนำของเหลือใช้มาประยุกต์ใช้ และอีกหนึ่งไอเดีย ต้องการอนุรักษ์และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้มีลวดลายของผ้าจกไท-ยวน จนกลายเป็นโคมไฟที่สวยงาม เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค