กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย และมีแนวโน้มดีขึ้น พื้นที่ประสบภัยแล้งลดลง มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 26 จังหวัด ขณะที่ปริมาณฝนยังอยู่ในระดับน้อย ส่วนใหญ่ฝนตกกระจายบริเวณขอบประเทศด้านภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนส่วนใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และขอให้จังหวัดประกาศยุติสถานการณ์ภัย พร้อมประสานแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรวบรวมรายงานกระทรวงมหาดไทยต่อไป
นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) อำนวยการติดตาม ซักซ้อมการเฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ครั้งที่ 20/2559 กล่าวว่า สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกกระจายและฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยพื้นที่ประสบภัยแล้งลดลง ปัจจุบัน ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2559 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 26 จังหวัด 189 อำเภอ 1,014 ตำบล 8,274 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 11.04 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ แยกเป็น จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภค 8 จังหวัด จังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตร 6 จังหวัด และจังหวัดที่มีปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร 12 จังหวัด รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง จึงได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง เน้นการเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ โดยเร่งขุดลอกคูคลองหนองบึง และแจกจ่ายน้ำเติมน้ำในภาชนะกลางสำหรับให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภค รวมถึงปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่เหนือเขื่อนช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ จากการประสานข้อมูลสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) พบว่า แม้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2559 แล้ว แต่ยังมีปริมาณฝนน้อย ส่วนใหญ่ฝนตกบริเวณขอบประเทศด้านภาคตะวันตกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ ของประเทศยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์สภาพอากาศในช่วงวันที่ 16 – 18 มิถุนายน 2559 บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา จึงได้ประสานให้จังหวัดเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มในพื้นที่ดังกล่าว สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ พบว่า เขื่อนส่วนใหญ่ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติและเริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนบ้างแล้ว แต่เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ของแต่ละเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่ยังคงต้องระบายน้ำออกสำหรับจัดสรรให้ประชาชนใช้ในกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมและสอดคล้องกับปริมาณฝน เพื่อจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการใช้งานของประชาชนในทุกกิจกรรม รวมถึงสำรองน้ำสำหรับผลักดันน้ำเค็มในช่วงเกิดพายุลมแรงในอ่าวไทยและน้ำทะเลหนุนสูง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด กักเก็บน้ำและสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค ส่วนเกษตรกรควรวางแผนการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ สำหรับพื้นที่มีฝนตกไม่สม่ำเสมอ ให้เลื่อนการทำการเกษตรออกไปจนกว่าจะมีฝนตกตามฤดูกาลปกติ เพื่อป้องกันผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ท้ายนี้ ขอให้จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) และภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ยุติลง ให้จังหวัดประกาศยุติสถานการณ์ภัย พร้อมประสานแจ้งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อรวบรวมรายงานกระทรวงมหาดไทยต่อไป
0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th