กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดงานสัมมนา "การดำเนินคดีแบบกลุ่ม" หรือ class action1 ให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนทราบถึงสาระสำคัญและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง บรรยายโดย นายพงษ์เดช วานิชกิตติกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา "การดำเนินคดีแบบกลุ่ม" หรือ class action ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน อาทิ บริษัทจดทะเบียน สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ทราบถึงสาระสำคัญและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง งานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานศาลยุติธรรม โดยนายพงษ์เดช วานิชกิตติกุล ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นผู้บรรยายและตอบข้อซักถาม
นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. เห็นประโยชน์ของกฎหมาย class action[1] จึงริเริ่มและผลักดันให้มีกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยรักษาสิทธิของผู้ลงทุนในตลาดทุนได้
โดยหากมีผู้เสียหายเริ่มต้นฟ้องคดีแพ่งแบบกลุ่มต่อศาลที่มีเขตอำนาจตามลักษณะหรือประเภทคดีแล้วผู้เสียหายรายอื่นที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันจะถูกจัดเป็นสมาชิกของกลุ่มโดยอัตโนมัติ เว้นแต่จะเลือกออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ตัวอย่างการฟ้องคดีแพ่งโดยใช้กฎหมาย class action ที่เกี่ยวกับตลาดทุน อาทิ ผู้ลงทุนหลายรายได้รับความเสียหายในช่วงเวลาเดียวกันจากการแพร่ข้อความเท็จที่กระทบต่อราคาซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน social media ต่าง ๆ
ข้อดีของการเข้าร่วมดำเนินคดีแบบกลุ่มคือ ไม่ต้องฟ้องคดีด้วยตนเองและผลของคดีจะผูกพันสมาชิกในกลุ่มทุกรายโดยศาลและทนายความจะมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพิจารณาคดีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของกลุ่ม ซึ่งกฎหมาย class action ของไทยรองรับให้ทนายความมีสิทธิได้รับเงินรางวัลจากผู้กระทำผิดในอัตราไม่เกิน 30%ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับด้วย
_________________
[1]การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) คือวิธีการนำคดีไปฟ้องศาลซึ่งเหมาะสำหรับคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันและประสงค์จะใช้สิทธิทางศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเอง สามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมาย class action ได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb04/%bb04-20-2558-0001.pdf