กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มอบ สสจ.สกลนคร เป็นเจ้าภาพ นพ.ธำรงค์ สมบุญตนนท์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 1 ประธานคณะกรรมการฯ เปิดการประชุมประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเวทีประกวด 4 ระดับ มีหน่วยบริการส่งเข้าประกวด 50 แห่ง เผยโครงการนี้มิเป้าหมายเพื่อคัดเลือกและเชิดชูเกียรติหน่วยงานสาธารณสุขที่มีความโดดเด่นในการบริการขับเคลื่อน และพัฒนางานด้านการพทย์แผนไทย รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่ายงานด้านการแพทย์แผนไทย ด้าน นพ.ประภาส วีระพล นายแพทย์ สสจ.นครพนม แจงผลงาน จ.นครพนม มีนโยบายในการขับเคลื่อนงาน 5 ด้าน 1) OPD แพทย์แผนไทย 2) ศูนย์เรียนรู้หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ (พ่อหมอสอย เพชรฤทธิ์) 3) สวนสมุนไพรในหน่วยบริการ 4) แหล่งผลิตสมุนไพร GMP และ 5) การอนุรักษ์สมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติภูลังกา ย้ำผลการดำเนินงานปี'59 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา และผ่านเกณฑ์เป้าหมายตัวชี้วัด
นายแพทย์ธำรงค์ สมบุญตนนท์ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 1 ประธานคณะกรรมการการประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวในพิธีเปิดการประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า กระทรวงสาธารณสุข กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้จัดทำโครงการประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ประจำปี 2559 ในส่วนของการประกวดพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9 และเขตสุขภาพที่ 10 ซึ่งกรมการแพทย์ทางเลือกได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เป็นเจ้าภาพในการจัดประกวด โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 4 ระดับ มีหน่วยบริการส่งเข้าประกวด ดังนี้ 1.ระดับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 4 แห่ง 2.ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จำนวน 12 แห่ง 3.ระดับโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 16 แห่ง และ 4.ระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล/ สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 18 แห่ง
"โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและเชิดชูเกียรติหน่วยงานสาธารณสุข ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความโดดเด่นในการบริการขับเคลื่อนและพัฒนางานด้านการพทย์แผนไทย และเพื่อเป็นการยกระดับและพัฒนาการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทย ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค รวมทั้งการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากรด้านการแพทย์แผนไทยในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจงานด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างเครือข่ายงานด้านการแพทย์แผนไทย อันจะนำองค์ความรู้มาต่อยอดในการบริหาร การจัดบริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการของรัฐ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้าร่วมการประชุมจะได้รับความรู้ และประสบการณ์ นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานแพทย์แผนไทยในพื้นที่ เพื่อให้บริการประชาชนด้วยการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ที่ได้คุณภาพและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพของประชาชนต่อไป"
นายแพทย์ประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยถึงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ว่า จังหวัดนครพนมได้พัฒนาระบบบริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกมาอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง คือ "ร้อยละของผู้ป่วยนอกได้รับบริการการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน" (ร้อยละ 18) และการเปิด OPD แพทย์แผนไทยคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก และสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกได้มากขึ้น
ในส่วนของการพัฒนางานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกของจังหวัดนครพนม ได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนงาน 5 ด้าน คือ 1) OPD แพทย์แผนไทย 2) ศูนย์เรียนรู้หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ (พ่อหมอสอย เพชรฤทธิ์) 3) สวนสมุนไพรในหน่วยบริการ 4) แหล่งผลิตสมุนไพร GMP และ 5) การอนุรักษ์สมุนไพรพื้นที่เขตอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติภูลังกา ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายตัวชี้วัด พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา และผ่านเกณฑ์เป้าหมายตัวชี้วัด โดยมีร้อยละของผู้ป่วยนอกได้รับบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกที่ได้มาตรฐาน เท่ากับร้อยละ 24.82 (ปี 2558, 2557 และ 2556 เท่ากับ 20.30, 20.26 และ 14.92 ตามลำดับ)
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก กล่าวโดยสรุป คือ (1) มีการเปิดให้บริการ OPD แพทย์แผนไทยคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ร้อยละ 83.33 (2) มีพื้นที่ต้นแบบดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์แผนไทยระดับภาค 1 แห่ง คือ รพท.นครพนม (3) หน่วยบริการใช้ยาสมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบัน ร้อยละ 66.62 ของหน่วยบริการทั้งหมด และสามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันลดลง ร้อยละ 15.76 (4) หน่วยบริการมีสวนสมุนไพรทุกแห่ง ร้อยละ 100 (5) สถานบริการผ่านมาตรฐานตามเกณฑ์โรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (รพ.สส.พท.) ร้อยละ 88.89
(6) มีอาคารผลิตยาสมุนไพร 1 แห่ง (โรงพยาบาลเรณูนคร) ที่ได้รับความเมตตาจากหลวงปู่อ้ม สุขกาโม วัดป่าภูผาผึ้ง อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างอาคารผลิตยาสมุนไพร พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ครุภัณฑ์เครื่องบรรจุแคปซูลกึ่งอัตโนมัติ มูลค่า 3,348,336 บาท ซึ่งจะรับการตรวจประเมินมาตรฐาน GMP ในเดือนกรกฎาคม 2559 (7) หมอพื้นบ้านจังหวัดนครพนม ได้รับการคัดเลือกเป็นหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2558 โดยได้รับโล่เชิดชูเกียรติและเงินรางวัล 200,000 บาท (8) เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์แผนไทยของจังหวัดนครพนม ได้รับรางวัลเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์แผนไทยดีเด่นระดับเขต 1 คน คือ นางปาริชาติ พิณราช แพทย์แผนไทย รพ.เรณูนคร และ (9) มีโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยต้นแบบระดับเขต (รพท.นครพนม) เปิดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะโรคครบวงจร (ข้อเข่าเสื่อม ไมเกรน อัมพฤกษ์ อัมพาต ภูมิแพ้)
"นอกจากนี้ยังได้มีการสนับสนุนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น เช่น ภาคีเครือข่ายหมอพื้นบ้านที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานนายทะเบียนจังหวัดนครพนม จำนวน 658 คน และชมรมหมอพื้นบ้านศรีโคตรบูรณ์ รวมทั้งมีการอนุรักษ์และคุ้มครองสมุนไพรภูลังกาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำสารานุกรมสมุนไพรอุทยานแห่งชาติภูลังกา และแผ่นพับเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้สมุนไพรอุทยานแห่งชาติภูลังกาในโรงเรียน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 8 แห่ง เพื่อให้ประชาชนและผู้สนใจได้เรียนรู้ต่อไป" นายแพทย์ประภาส วีระพล กล่าว