กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--แฟรนคอม เอเชีย
หัวเว่ย เป็นเจ้าภาพจัดงาน Ultra-Broadband Summit 2016 ขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับคณะกรรมการบรอดแบนด์ ที่ปรึกษาด้านโทรคมนาคมประจำภูมิภาค ซึ่งจัดตั้งโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และยูเนสโก้ งานประชุมดังกล่าวมีผู้ทรงอิทธิพลในอุตสาหกรรม ผู้นำด้านโทรคมนาคม ตัวแทนจากกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร โอเปอเรเตอร์ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกว่า 300 คน มาร่วมพูดคุยเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเร่งพัฒนาโครงสร้างและบริการบรอดแบนด์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค รวมถึงหาโอกาสความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายด้วย
มร. โจ เติง ประธานบริหาร ธุรกิจโทรคมนาคม หัวเว่ย แปซิฟิคใต้ กล่าวในระหว่างพิธีเปิดงานประชุมว่า หัวเว่ยจัดงานนี้ขึ้นบนความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยหวังว่าจะสร้างโอกาสการพัฒนาอัลตร้าบรอดแบนด์ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ งานประชุมในครั้งนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายบริการอัลตร้าบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น มีความเร็วสูงขึ้น ให้ผู้ใช้ในเอเชียแปซิฟิคมีประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าเดิม
จากการวิจัยของ OVUM พบว่า บริการ OTT VDO เป็นตัวสร้างการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมภาพเพื่อความบันเทิงทั้งหมด และบริการ OTT ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคก็เป็นหนึ่งในกลุ่มวิดีโอที่เติบโตรวดเร็วที่สุดตามเทรนด์ดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ปี 2020 ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเมื่อวิดีโอกลายเป็นบริการพื้นฐานคือ การปรับเปลี่ยนเน็ตเวิร์คจากการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไปสู่การขับเคลื่อนด้วย ประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า ดังนั้น·มาตรฐาน U-vMOS ที่ ITU ประกาศออกมาสำหรับใช้วัดประสบการณ์วิดีโอ จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโอเปอเรเตอร์ที่วางแผนจะสร้างเน็ตเวิร์คแบบเน้นประสบการณ์ที่ดีที่สุด
ในการประชุมดังกล่าว OVUM บริษัทวิเคราะห์ชั้นนำได้นำเสนอวิดีโออินเด็กซ์หรือดัชนี้ชี้วัดการใช้งานด้านวิดีโอในเอเชียแปซิฟิคเป็นครั้งแรกของโลกในงานประชุม Ultra-Broadband Summit 2016 ดัชนีชี้วัดดังกล่าวเก็บข้อมูลจาก 17 ประเทศในเอเชียเปซิฟิค ด้วยการใช้มาตรฐาน U-vMOS (User, Unified, Ubiquitous-Mean Opinion Score for Video Standard) เป็นเกณฑ์วัดประสบการณ์ของผู้ใช้วิดีโอ ซึ่งจะช่วยชี้แนะโอเปอเรเตอร์ในการพัฒนาความพึงพอใจของผู้ใช้ ด้วยการวัดประสบการณ์การใช้วิดีโอ ทั้งแบบมัลติสกรีน มัลติเน็ตเวิร์ค และมัลติเซอร์วิส โดยประเทศที่มีคะแนนวิดีโออินเด็กซ์ U-vMOS สูงสุดในเอเชียแปซิฟิค คือ สิงคโปร์ ตามมาด้วยนิวซีแลนด์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในขณะที่ตลาดที่กำลังเติบโตในเอเชียแปซิฟิคยังมีคะแนน U-vMOS ต่ำ การประเมินของ OVUM ด้วยคะแนน U-vMOS นี้ได้แยกแยะความแตกต่างของโอเปอเรเตอร์ในการจัดหาเน็ตเวิร์คที่ขับเคลื่อนด้วยประสบการณ์การใช้งานวิดีโอสำหรับตลาดเอเชียแปซิฟิค
มร. แดเนียล ถัง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค กลุ่มผลิตภัณฑ์ Fixed Network ของหัวเว่ย กล่าวว่า "การก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของกิกะแบนด์ จะทำให้เราได้เห็นบริการและเทรนด์ใหม่ ๆ มากมาย เช่น บริการวิดีโอความละเอียดสูงแบบ 4K, ความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality, Smart Home และบริการคลาวด์ หัวเว่ยเชื่อว่า เน็ตเวิร์คที่เรียบง่ายแต่มีความคล่องตัวและความเร็วที่สูงมาก จะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในบริการเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบาย ผู้ผลิตคอนเทนต์วิดีโอ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากกิกะแบนด์อย่างทั่วถึง"
งาน Ultra-Broadband Summit 2016 เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้พูดคุยกัน อาทิ ผู้กำหนดนโยบาย นักมองอนาคต ผู้นำทางธุรกิจ พันธมิตรผู้สร้างและให้บริการคอนเทนต์วิดีโอ และผู้บุกเบิกเทคโนโลยีจากหลาย ๆ ภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ โอเปอเรเตอร์ชั้นนำในภูมิภาคและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้านบรอดแบนด์ก็มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนวัตกรรม กรณีศึกษา และรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
งานประชุมนี้เริ่มต้นเวิลด์ทัวร์จากฮ่องกง ก่อนที่จะเวียนไปยังดูไบ มอสโก แอฟริกาใต้ และอาร์เจนติน่า เพื่อเป็นเวทีเปิดสำหรับการเสวนาเชิงลึก มุ่งส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารด้านโทรคมนาคมระดับภูมิภาคและพันธมิตรด้านบรอดแบนด์ เพื่อขยายศักยภาพของอัลตร้าบรอดแบนด์ และกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ ความสำเร็จและแผนการต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน